Sunday, August 28, 2011

การให้วัคซีนสำหรับไก่

การให้วัคซีนสำหรับไก่

วัคซีน สำหรับไก่ การเลี้ยงไก่ในบ้านเราจะไม่ให้ยุงกัดเลยย่อมทำไม่ได้ เพราะเป็นเมืองร้อนยุงมากจึงทำให้เป็นโรคฝีดาษอยู่กว้างขวางแห่งที่มีการเลี้ยงไก่ ดังนั้นการป้องกันโรคฝีดาษจึงจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องอาศัยวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษของกรมปศุสัตว์ วัคซีนชนิดนี้ให้ผลดีมากในการป้องกันโรคฝีดาษ การให้วัคซีนต้องให้เสียตอนที่ลูกไก่อายุได้ 7 วัน วัคซีนนี้ให้ครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องให้ซ้ำอีกเพราะไก่ที่โตเต็มที่แล้วจะต้านทานโรคนี้ได้ดี หลังจากให้วัคซีนลูกไก่แล้วควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดเด็ดขาด โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคหลอดลมอักเสบติดต่อได้ผลจริง ๆ การป้องกันที่ดีหรือให้ได้ผลดีจริง ๆ ต้องใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ของกรมปศุสัตว์ หยอดจมูกให้ลูกไก่หลังจากอายุ 15 วันไปแล้ว ให้หยอดตัวละ 2 หยด และควรหยอดวัคซีนซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อลูกไก่อายุได้ 4 - 5 เดือน
การใช้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลที่ถูกต้องควรทำดังนี้
  1. เมื่อลูกไก่อายุ 2 - 5 วันให้หยอดจมูกลูกไก่ด้วยวัคซีน สเตรนเอฟ ตัวละ 1 หยด
  2. พอลูกไก่ได้ 3 อาทิตย์เต็ม ควรให้วัคซีนสเตรนเอฟหยอดซ้ำอีกตัวละ 2 หยด
  3. พอลูกไก่ได้ 8 อาทิตย์ ควรใช้วัคซีนเอมพีสเตรน แทงที่ผนังปีก จะคุ้มโรคได้ 1 ปี

โรคไก่และการป้องกัน

โรคไก่และการป้องกัน

โรคระบาดไก่ ในการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง จึงจะให้ผลผลิตสูง ดังนั้นเราต้องรู้จักโรคและการป้องกันโดยถือหลักว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" โดยทั่วไปแล้วโรคที่มักจะทำความเสียหายให้กับการเลี้ยงไก่ ได้แก่
  • โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ะระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ หรือกินน้ำ อาหารที่มีเชื้อปนเข้าไป จากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย และสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล หัวสั่น กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต คอบิด เดินเป็นวงกลม หัวซุกใต้ปีก สำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลดลงทันที่ และมักจะตายภายใน 3-4 วัน หลังจากแสดงอาการป่วย
    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนลาโซตาเชื้อเป็น และลาโซตาเชื้อตาย ดูวิธีการใช้จากตารางการทำวัคซีนท้ายเล่ม
  • โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะมีความรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดในลำคอ ไอ น้ำมูกไหล ตาแฉะ เซื่องซึม เบื่ออาหาร ในไก่จะไข่ลดลงอย่างกะทันหัน
    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
  • โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น
    การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน
    การป้องกัน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
  • โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด
    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่
  • โรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจมักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการจาม มีน้ำตา น้ำมูกอยู่ในช่องจมูกและเปียกเปรอะถึงปาก และมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรง ตาจะแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม ไก่กินอาหารน้อยลง ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลด
    การรักษา โดยใช้ยาพวกซัลฟา ได้แก่ ซัลฟาไธอาโซล ซัลฟาไดเมท๊อกซิน ส่วนยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อิริโธมัยซิน และสเตรปโตมัยซิน
    การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดี การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนที่ดี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัดหน้าบวม
  • โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
    เป็นโรค ทางเดินหายใจ มักเป็นกับไก่ใหญ่ อายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหายใจไม่สะดวก ยื่นคอและศีรษะตรงไปข้างหน้า อ้าปากเป็นระยะๆ และหลับตา ไก่จะตายเพราะหายใจไม่ออก
    การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาลที่ดี และป้องกันไม่ให้ลมโกรก และการให้วัคซีนป้องกันโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
  • โรคมาเร็กซ์ เป็นโรคที่มักเป็นกับไก่รุ่น ไก่สาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่สะสมอยู่ที่หนังไก่บริเวณโคนขนของไก่ป่วยเป็นแผ่นเล็กๆ คล้ายขี้รังแค ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหงอยซึม การเจริญเติบโตไม่ได้ขนาด ในกรณีที่เป็นอัมพาต ไก่จะอ่อนเพลีย กินน้ำกินอาหารไม่ได้ การทรงตัวไม่ปกติ เดินขาลาก แล้วเป็นอัมพาตเดินไม่ได้
    การป้องกัน การสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดีไม่ให้ไก่เครียด และการให้วัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์
  • ข้อปฏิบัติ 10 ข้อในการควบคุม-ป้องกันโรคระบาดไก่
    1. หยอดหรือฉีดวัคซีน หรือแทงปีก เป็นประจำตามโปรแกรมการให้วัคซีน
    2. คอก เล้า หรือโรงเรือนเลี้ยงไก่ ตั้งอยู่บริเวณที่ดี มีลักษณะและขนาดเหมาะสมกับจำนวนไก่ สามารถป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เช่น นกกระจอก นกพิราบ อีกา สัตว์ปีกชนิดอื่นๆ หนู สุนัข แมว และสัตว์ชนิดอื่นๆ
    3. ให้น้ำสะอาด โดยเปลี่ยนน้ำให้ไก่กินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสมอๆ
    4. ทำความสะอาดคอก เล้า หรือโรงเรือนเป็นประจำ รวมทั้งบริเวณล้อมรอบ อย่าให้มีแอ่งน้ำสกปรก ต้องมีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มเท้าก่อนเข้า
    5. ป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก เช่น ไม่นำไก่จากแหล่งที่เป็นโรค หรือสงสัยว่าเป็นโรค หรือไม่ทราบแหล่ง เข้ามาในฟาร์มและรวมในฝูงทันที
    6. ถ้าจะนำไก่จากแหล่งภายนอกมาเลี้ยง ต้องขังไก่แยกกักกันโรคไว้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อดูอาการให้แน่ใจก่อนว่าไก่ไม่เป็นโรคแน่นอนจึงนำเข้ามาเลี้ยงรวมฝูงได้
    7. ไก่ป่วยต้องแยกออกจากฝูงแล้วทำการรักษาโรคทันที ถ้ารักษาไม่ได้ผลต้องคัดออกทิ้งและทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่โรคในฝูง
    8. เมื่อเกิดโรคระบาดต้องทำลายไก่ป่วยและซากไก่ตายด้วยการฝังลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โรยด้วยปูนขาว แล้วกลบดินทับปากหลุม หรือเผา นำวัสดุรองพื้นออกมาเผา ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร ภาชนะใส่อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ พ่นภายใน ภายนอก และบริเวณรอบๆ คอก เล้า หรือโรงเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และพักการเลี้ยงไก่ไว้ระยะหนึ่ง อย่าทิ้งซากไก่ลงในแม่น้ำลำคลอง อย่าให้น้ำที่ใช้ทำความสะอาดไหลลงแม่น้ำลำคลอง จะทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังแหล่งอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่ราชการโดยเร็วที่สุด
    9. ให้ยาบำรุง วิตามิน และแร่ธาตุ ละลายน้ำให้ไก่กินในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน หรือช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ไก่เครียด และติดโรคได้ง่ายที่สุด ควรให้กินติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน
    10. ปรึกษาสัตวแพทย์ในท้องที่เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง

สมุนไพรไก่ชน

ยาถ่ายไก่

สมุนไพร ไก่ชน ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้
  1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
  2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
  3. ไพลประมาณ 5 แว่น
  4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
  5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
  6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน)
ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน

น้ำสำหรับอาบไก่

ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้
  1. ไพลประมาณ 5 แว่น
  2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
  3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
  4. ใบมะกรูด 5 ใบ
  5. ใบมะนาว 5 ใบ
เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง

สมุนไพรเกี่ยวกับโรคผิวหนัง บาดแผล เห็บหมัด ไรไก่

สมุนไพรเดี่ยว
  1. รากหนอนตายอยาก แผลติดเชื้อ มีหนอง มีหนอน ตำให้แหลก พอก หรือคั้นน้ำ ทาแผล
  2. ตะเคียน ต้มเคี่ยวใช้ทาแผล หรือตำให้แหลกแช่น้ำ ใช้แช่เท้าเปื่อย
  3. ประดู่ ต้มเคี่ยวใช้ทาแผล
  4. หนามคนทา ใช้ฝนทาแผล หนอง
  5. ลูกหนามแท่ง ต้มใช้น้ำชะล้างแผล หรือชำระล้าง
  6. ลูกมะคำดีควาย ต้ม ใช้น้ำชำระล้าง
  7. กำมะถันแดง โรยบนเตาไฟใช้รมบาดแผล
  8. หนามกำจาย ฝนทาแผล ติดเชื้อ
  9. เปลือกสีเสียด ต้มเคี่ยว ใช้ล้างแผล แช่เท้าเปื่อย
  10. ว่านมหากาฬ ตำพอกแผล
  11. ฟ้าทะลายโจร ต้มเคี่ยวใช้ชะล้าง
  12. ยาฉุน แช่น้ำ ไล่เห็บ เหา หมัด ไรไก่
  13. แมงลักคา ขยี้สดๆวางไว้ในเล้าไก่ไล่ไรไก่

น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง

น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง
  1. ไม้กระดูกไก่ทั้ง ๒
  2. เปลือกสมอทะเล
  3. ยอดส้มป่อย
  4. ขมิ้น
  5. ใบหนาด
ต้มรวมทั้งหมดเอาน้ำใช้อาบ

น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง

  1. ไพล
  2. ขมิ้น ( ขมิ้นอ้อย หรือขมิ้นก็ได้ )
ตำใช้ประคบ

พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่

พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่ ภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณ จาก สถานะการณ์ ไข้หว้กนกที่ผ่านมา ในขณะที่ฟาร์มไก่เป็นโรค ระบาดตายหมดเล้า แต่เรากลับพบว่า "ฟาร์มไพบูลย์" ตั้งอยู่เลขที่ 23 หมู่ 3 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ประมาณ 20,000 ตัว ในพื้นที่ 5 ไร่ กลับไม่ เป็นอะไรเลย ยังมีอาการปกติดีทุกอย่างไพบูลย์ รักษาพงษ์พานิชย์ อายุ 55 ปีเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ เล่าว่า เขามีเทคนิคในการเลี้ยงไก่ ที่ไม่เหมือนกับฟาร์มอื่นๆ กล่าวคือเขาได้ใช้สมุนไพรไทย เข้ามาช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับไก่ไข่ภายในเล้า โดยเคล็ดลับ ในการเลี้ยง และดูแลรักษาไก่ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้หวัด และโรคอหิวาต์นั้น ใช้ ฟ้าทะลายโจรผง และบอระเพ็ดผสมให้ไก่กิน ซึ่งฟ้าทะลายโจรนี้ใช้ได้ทั้งก้าน และใบนำมาบดผสมเข้ากับบอระเพ็ด อัตราส่วนโดยประมาณ ฟ้าทะลายโจร 1 ตัน ผสมบอระเพ็ด 2 กิโลกรัม แล้วนำสมุนไพรที่ว่านี้ผสมลงในอาหารอีกครั้ง อัตราส่วนสมุนไพร 15 กิโลกรัมต่ออาหารไก่ 1,000 กิโลกรัม คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ก่อนนำเอาไปให้ไก่กินทุกวันฟ้าทะลายโจรจะช่วยในเรื่องของการป้องกันในเรื่องของหวัดไก่และคุมเรื่องโรคอหิวาต์ หรือโรคท้องร่วงที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าหนาว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคหรือติดโรค ง่ายเวลาที่มีการระบาด เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน และค่อนข้างใช้ได้ผล ซึ่งนอกจากสมุนไพรแล้ว เรื่องของ "น้ำ" ก็สำคัญ เพราะเชื้อมักมากับน้ำ ฉะนั้นการใช้น้ำคลองหรือน้ำบาดาลให้ไก่กิน ควรใส่ยาฆ่าเชื้อพวกคลอรีนหรือเพนนิซิลลินเสียก่อนอีกวิธีที่ใช้กันมานาน ก็คือ การใช้ตะไคร้ วิธีการก็คือนำตะไคร้ทั้งกอมาต้มให้ไก่กินแทนน้ำ (การต้มน้ำก็เป็นการฆ่าเชื้อโรคได้ทางหนึ่ง)
ส่วนไอน้ำตะไคร้ที่ต้มก็ให้ใช้วิธีต่อท่อพ่นเข้าไปในเล้าไก่ แต่ทั้งนี้ต้องทำความสะอาดเล้าไก่ให้ดีเสียก่อน เชื่อว่าเป็นการไล่หวัดไก่ได้ วิธีการนี้เคยใช้เมื่อครั้งเกิดโรคระบาดไก่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้เกษตรกรบางรายอาจจะมองว่าเป็นการไปเพิ่มต้นทุน แต่ถ้าสามารถป้องกันโรค และไม่เกิดความเสียหายจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็ถือว่าคุ้มที่จะลงทุน ตามสำนวนไทยที่ว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน แนะใช้ "สมุนไพร" แทนยาปฏิชีวนะ เสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรคระบาดในไก่
วิจัยพบสมุนไพรหลายชนิด เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน พริก ฝรั่ง มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อในไก่ สามารถใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะที่กำลังเป็นปัญหาในการส่งออกได้ สกว. หนุนวิจัยเชิงลึก ทั้งสร้างมาตรฐานการใช้สมุนไพร การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิธีการปลูก ที่นอกจากจะช่วยรักษาตลาดส่งออกไก่เนื้อ มูลค่าสี่หมื่นล้านบาทต่อปี และเปิดตลาดอาหารสุขภาพแล้ว ยังเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรไทยที่จะหันมายึดอาชีพปลูกสมุนไพรอีกด้วย
หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ก็คือ "โรคระบาด" เพราะทุกครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก และเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปยังไก่ที่เหลือในเล้าและฟาร์มใกล้เคียง ดังที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่หลายจังหวัดในขณะนี้
สาเหตุสำคัญของการระบาดก็คือ สภาพของการเลี้ยงไก่จำนวนมากในพื้นที่น้อย ๆ ซึ่งนอกจากสร้างความเครียดให้กับไก่แล้ว ยังทำให้ไก่กินอาหารน้อยลงและมีภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง จนเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย ซึ่งแนวทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพไก่ก็คือ การใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะผสมในน้ำหรืออาหารที่ไก่กิน เพื่อช่วยลดความเครียดและกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น
น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในการประชุมวิชาการ "สมุนไพรไทย : โอกาสและทางเลือกใหม่ ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ครั้งที่ 2 " ว่าขณะนี้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ คือ การสร้างความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก แต่ปัจจุบันยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหาร เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่อยู่ค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันมีการศึกษาวิจัยในด้านการใช้สมุนไพรอย่างจริงจังในหลายหน่วยงาน ซึ่งหากพบว่าสามารถใช้ทดแทนได้จริง ทางกระทรวงโดยกรมปศุสัตว์ก็พร้อมให้การสนับสนุน
"สมุนไพร" เป็นทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ในการแก้ปัญหาการตกค้างของสารต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยอยู่มากพอสมควร และเราได้กำหนดมาตรการการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเราให้ยาปฏิชีวนะน้อยที่สุด หากใช้ ต้องใช้เพื่อการรักษาเท่านั้น และหากจะใช้ต้องมีระยะหยดยาด้วย ซึ่งทำให้สมุนไพรอาจเป็นคำตอบของเรื่องนี้ก็ได้ และหากมีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าใช้สมุนไพรแทนได้จริงทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า เราก็พร้อมสนับสนุน เพราะจะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะตลาดสินค้าอินทรีย์ที่ยุโรป ซึ่งเขาต้องการสินค้าพวกนี้ โดยไม่เกี่ยงเรื่องราคา
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. กล่าวเสริมว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเกรงผลตกค้างที่อาจทำให้เกิดการดื้อยาในผู้บริโภค โดยหลังปี 2006 สหภาพยุโรปจะห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ทุกชนิด รวมถึงไก่เนื้อส่งออกของไทย ที่ขณะนี้ส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าส่งออกทั่วโลกกว่าสี่หมื่นล้านบาทในปี 2546 ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับ มาตรการดังกล่าว เพราะมาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกประเทศจะมีแนวโน้มไปในทางเดียว กัน
"ปัญหาคือ มีรายงานในยุโรปพบว่า สัตว์ที่ได้รับสารปฏิชีวนะในระดับต่ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะนั้น เพราะฉะนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีการใช้สารเหล่านี้เข้าไปเป็นประจำ ก็อาจมีผลให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะในมนุษย์ได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้หลายประเทศในตะวันตกนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เป็นกลยุทธ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับสารเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นคือ มาตรการห้ามนำเข้าไก่ที่มีการเลี้ยงโดยเติมสารปฏิชีวนะ"
ในเรื่องดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมส่งออกไก่เนื้อของไทย ทั้งในรูปไข่ไก่แช่แข็งและแปรรูป ก็มิได้นิ่งนอนใจ หลายบริษัทเริ่มหันมาศึกษาหาแนวทางในการลดละเลิกการใช้สารปฏิชีวนะเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในคำตอบนี้คือ "สมุนไพร" รศ.ดร. จันทร์จรัส กล่าวว่า งานวิจัยภายใต้ชุดโครงการ "การใช้สมุนไพรในการผลิตสัตว์" โดยการสนับสนุนของ สกว. ที่ผ่านมา ได้พบสมุนไพรหลายตัว เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน พริก ใบหรือผลฝรั่งอ่อน มีคุณสมบัติช่วยให้ไก่ที่เลี้ยงไว้มีอัตราการรอด และการเจริญเติบโตไม่แพ้การเลี้ยงโดยเติมสารปฏิชีวนะ ซึ่งสิ่งที่ สกว. กำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือ การพยายามหาตัวเลข หรือค่าบางตัวที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า สมุนไพรมีผลดีต่อสัตว์จริง ในเชิงวิชาการนำปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมมาแปลงเป็นโจทย์วิจัย เพื่อให้นักวิจัยสาขาต่าง ๆ ได้ช่วยกันศึกษาและสรุปผล ให้คำตอบที่ถูกต้องแก่ผู้เลี้ยงสัตว์
ศ.ดร. นันทวัน บุณยะประภัคร จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการชุดนี้ กล่าวว่า จากผลการวิจัยที่ผ่านมา แม้จะพบว่า มีพืชหลายชนิดมีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นสารเติมในอาหารสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ หากยังอยู่ในระดับการศึกษาเพื่อดูผลจากการนำไปใช้ แต่สิ่งที่จะดำเนินการต่อในช่วง 2 ปี ข้างหน้านี้ คือการวิจัยเพื่อสร้างระบบในการนำสมุนไพรเหล่านี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
"ขณะนี้ งานวิจัยถึงผลของการใช้พืชเหล่านี้กับกระบวนการออกฤทธิ์ในสัตว์ เช่น ลดความเครียด หรือช่วยในการย่อย ได้ผลในเบื้องต้นแล้วพบว่า การใช้ฟ้าทลายโจร และขมิ้นชัน มีผลในทางบวกต่อไก่อย่างเห็นได้ชัด ส่วนการวิจัยในพืชชนิดอื่น เช่น พริก ใบฝรั่ง กระเทียม ก็ยังพบว่ามีผลต่ออัตราการโตและอัตราการรอดของสัตว์เหล่านี้ และนอกจากงานวิจัยทั้งสองส่วนนี้แล้ว เรายังได้สนับสนุนให้นักเภสัชศาสตร์ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการนำสมุนไพรเหล่า นี้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ง่ายต่อการผสมในอาหาร ที่เก็บได้นาน ทนต่อความชื้น และคงตัวต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งงานนี้จะดำเนินไปพร้อมกับการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปทดสอบใช้กับการเลี้ยง ไก่เนื้อและหมู เพื่อหาส่วนผสมที่เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุด ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้า จะมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำหรับการเลี้ยงไก่และสุกรออกมาทดลองตลาดอย่างจริง จัง ซึ่งล่าสุด มีภาคเอกชนแสดงความสนใจจะเข้าร่วมทุนวิจัยและพัฒนาแล้ว"
นอกเหนือจากการวิจัยถึงผลการใช้ต่อสัตว์ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ศ.ดร.นันทวัน กล่าวว่า งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งกำลังดำเนินการภายใต้ชุดโครงการวิจัยนี้คือ การวิจัยเพื่อหารูปแบบการปลูกพืชสมุนไพรที่เหมาะสมทั้งระดับเกษตรและระดับอุตสาหกรรมไทย เพราะหากขาดส่วนนี้ไป แม้สมุนไพรชนิดนั้นจะดีอย่างไร หากเราปลูกขึ้นมาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งงานวิจัยส่วนนั้นนอกจากช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตสัตว์แล้ว ยังอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยยุคหน้าได้อีกด้วย
ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดไก่ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การป้องกันในระยะยาวด้วยการประยุกต์ภูมิปัญญาไทย และภูมิความรู้ด้านสมุนไพร มาใช้ทดแทนสารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาจกลายเป็นทางเลือกหรือคำตอบใหม่ของการดูแลสุขภาพไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคที่เกี่ยวกับไก่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ เป็นอันมาก เกษตรกรบางรายสงสัยว่า ทำวัคซีนแล้วแต่ไก่ก็ยังตายหมดทั้งฟาร์ม ซึ่งกระแสข่าวที่ผ่านมาทำให้คนไทยกลัวที่จะรับประทานไก่ เพราะกลัวโรคระบาดนั้นจะติดต่อมาสู่คน
ส่วนใหญ่การรักษาโรคไก่มักจะใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะกลุ่มของไก่พื้นเมือง ซึ่งอาจมีผลให้เกิดสารตกค้างถึงมนุษย์ และการรักษาดังกล่าวก็อาจทำให้ไก่ที่เหลืออยู่เป็นพาหะของโรคต่อไปหรือส่งผล ให้เชื้อโรคที่ยังอยู่มีพัฒนาการต่อก็ได้ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาหรือก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อไป
การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยพืชสมุนไพรเป็นอีกลู่ทางหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจและมีการสนับสนุน เช่น การใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata Wall. Ex Nees) เป็นพืชสมุนไพรทางการแพทย์ มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นสารพวก diterpene lactones ออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น Esherichia coli และ Salmonella typhi ยับยั้งเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ เช่น Staphylococcus aureus และมีสรรพคุณแก้ไข้ แก้หวัด แก้โรคบิด โรคท้องร่วง และแก้แผลบวมอักเสบ ซึ่งสรรพคุณที่ดีเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นในด้านการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับไก่ เช่น โรคอุจจาระขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียพวก Salmonella pullorum และในปัจจุบัน (ปี 2547) ได้มีโรคระบาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่าเป็นโรคนิวคาสเซิล สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ระบุว่า เกิดจากโรค แซลโมเนลลา (Salmonellasis) หรือโรคขี้ขาว และโรคอหิวาห์เป็ดไก่ที่ชื่อ Fowl Cholera
ผู้รายงานได้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และทำการศึกษาหาระดับที่เหมาะสมและศึกษาผลของสมุนไพรฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata) ในสูตรอาหารไก่ ต่อประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาโรคอุจจาระขาวในไก่พื้นเมือง โดยใช้ไก่พื้นเมืองคละเพศ อายุแรกเกิด จำนวน 160 ตัว โดยมี ดร.โอภาส พิมพา และ รศ.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร
ในการทดลองเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 14 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงการทดลองนั้นไก่จะถูกสุ่มแบ่งออกเป็นกลุ่ม จำนวน 16 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว แต่ละกลุ่มจะถูกสุ่มแบบอิสระ ให้ได้รับอาหารทดลองที่มีสมุนไพรฟ้าทลายโจรในส่วนประกอบมากขึ้น 4 ระดับ คือ 0% 0.5% 1.0% และ 1.5% ในสูตรอาหารตามลำดับ
ไก่แต่ละกลุ่มที่ได้รับอาหารในแต่ละสูตรจะให้กินได้อย่างเต็มที่ เพื่อวัดปริมาณการกินได้ ในแต่ละคอกจะมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 ครึ่งหนึ่งของไก่ที่ได้รับอาหารทดลองแต่ละสูตร จะถูกสุ่มให้ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum ซึ่งเชื้อจะถูกฉีดเข้าปากสู่ทางเดินอาหารโดยตรง
วัดอัตราการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร ศึกษาอาการเครียดและเหงาซึม ตลอดทั้งวัดคุณภาพซากเมื่อเลี้ยงครบ 14 สัปดาห์ ซึ่งไก่จะมีอายุ 16 สัปดาห์ จากการศึกษาพบว่าระดับของฟ้าทลายโจรที่เหมาะสมในสูตรอาหารคือ 1.0% เพราะมีผลให้ไก่กินอาหารได้มากที่สุด และมีแนวโน้มให้ไก่มีน้ำหนักตัวสูงที่สุด ตลอดทั้งอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดด้วย
นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันผลเสียอันเกิดจากเชื้อ Salmonella pullorum ที่มีต่อไก่ เช่น อาการเครียด ส่งผลต่อการกินอาหารที่ลดลงและอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง ซึ่งระดับฟ้าทลายโจร 1.0% ในสูตรอาหารยังสามารถทำให้อัตราการแลกเนื้อดีที่สุดในช่วงที่ไก่ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum
สมุนไพรฟ้าทลายโจรในสูตรอาหารจะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์ซากดีขึ้น และมีผลให้เปอร์เซ็นต์เนื้อหน้าอกมากด้วย ซึ่งในไก่พื้นเมืองสามารถย่อยสมุนไพรได้ดีกว่าไก่พันธุ์เนื้อในระบบฟาร์ม
หลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2546 จึงได้ใช้อาหารที่มีระดับฟ้าทลายโจรในสูตรอาหารระดับ 1% เรื่อยมา และหลังจากนั้นไก่ในฟาร์มที่เลี้ยงไม่มีอาการป่วยแสดงให้เห็น รวมทั้งในช่วงที่มีการระบาดที่รุนแรงและเฉียบพลันยังได้นำฟ้าทลายโจรน้ำหนัก แห้งจำนวน 10 กรัม ผสมน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินทุกวันอย่างสม่ำเสมอ พบว่าสามารถลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ ลงได้ (มีอัตราการตายประมาณ 7%)
ทั้งนี้ไก่ทุกตัวต้องได้รับการทำวัคซีนตรงตามโปรแกรมที่กรมปศุสัตว์กำหนด จึงได้ทดสอบง่ายๆ ในช่วงที่ 2 โดยเริ่มจากแบ่งไก่ออกเป็น 16 คอก คอกละ 6 ตัว ซึ่งไก่ทุกตัวมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง หลังจากนั้น ได้นำไก่ชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคระบาดดังกล่าว มาใส่รวมไว้ในคอกที่ 2 ให้น้ำเปล่าตามปกติ
หลังจากนั้นสังเกตอาการป่วย ปรากฏว่าไก่คอกที่ 2 มีอาการป่วยอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงเริ่มให้ฟ้าทลายโจรน้ำหนักแห้ง 10 กรัม ผสมน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินตั้งแต่คอกที่ 5-16 ปรากฏว่า ไก่คอกที่ 1-4 ตายหมด คอกที่ 5-16 ไม่ตายและยังมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ หยุดให้ฟ้าทลายโจร และนำน้ำฉีดลงที่พื้นคอกให้เปียกแฉะ (พื้นคอกปูด้วยแกลบ) สังเกตอาการของไก่ที่เหลือพบว่ามีไก่ป่วยแต่อาการไม่รุนแรง จึงให้ฟ้าทลายโจรอีกครั้งหนึ่งผสมลงในน้ำอัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 2.5 ลิตร พบว่าสามารถลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ ลงได้ ซึ่งถ้าหากได้มีการทดลอง วิจัยในระดับที่ละเอียดและชัดเจน อาจจะมีประโยชน์ต่อวงการปศุสัตว์ได้มากขึ้น ดังนั้น การให้อาหารที่มีพืชสมุนไพรฟ้าทลายโจร 1.0% ในสูตรอาหารจึงยังคงสร้างกำไรและลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคในฟาร์มได้ และหากเกษตรกรมีการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทลายโจรใช้เองจะทำให้การเลี้ยงไก่ได้ กำไรมากยิ่งขึ้น เพราะสมุนไพรฟ้าทลายโจรมีราคาแพง หากจะจัดซื้อมาผสมอาหารไก่เอง ซึ่งมีราคาประมาณ 200 บาท ต่อกิโลกรัม

ขั้นตอนในการชนไก่

ขั้นตอนในการชนไก่

ขั้นตอนในการชนไก่ ก่อนนำไก่ออกจากบ้านเพื่อจะนำไปชนที่สนามกีฬาชนไก่ทุกครั้ง เราต้องบอกเจ้าที่เจ้าทางที่บ้านเจ้าของไก่เสียก่อน เพื่อจะเอาฤกษ์ เอาชัย เอาโชค เอาลาภ จะบนบานสารกล่าวอะไร ก็แล้วแต่เจ้าของไก่จะบอก จะให้เจ้าที่ เจ้าบ้านอะไรนี่ก็เป็นเคล็ดลับอันหนึ่งที่คนโบราณนับถือกันมาตลอด จนถึงปัจจุบันนี้ พออุ้มไก่ออกจากสุ่มแล้วก็หงายสุ่มไว้ ห้ามไม่ให้ใครไปเล่นสุ่มที่หงายไว้เป็นอันขาด คนโบราณถือมาก หงายไว้เพื่อเอาเคล็ด จะได้หาคู่ได้ง่ายบ้าง จะได้ไม่ต้องเอากลับมาเลี้ยงต่ออีกบ้าง เพื่อจะได้ชัยชนะกลับมาบ้าง การนำไก่ออกชนทุกครั้งโบราณว่าไว้ ถ้าหันหน้าออกจากบ้านแล้ว ให้เดินหน้าต่อไปห้ามกลับหลังเด็ดขาด ของใช้ต่าง ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ต้องตรวจตราให้เรียบร้อย ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง นี่ก็เป็นการถือเคล็ดอย่างหนึ่งเหมือนกัน อย่างเช่นนำไก่ออกชน 1 ตัวหรือ 2 ตัว หรือมากกว่านั้นก็เหมือนกัน โบราณก็ถือเช่นกัน คือถ้าไก่ได้ชนทั้ง 2 ตัวในคราวเดียวกัน จะต้องมีชนะ 1 ตัว แพ้ 1 ตัว ลองสังเกตดูเองก็แล้วกัน คนสมัยก่อนถือมากครับ ถ้านำไก่ออกชน 1 ตัว หรือ 2 ตัว ถ้าเปรียบได้คู่ 1 ตัว อีก 1 ตัวเอาไว้ยังไม่เปรียบ ถ้าหากคู่ที่เปรียบไว้ได้ชนแพ้ ก็เอาไก่ตัวที่เหลือมาเปรียบใหม่ถ้าได้คู่มีสิทธิ์ชนะได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อคนโบราณไว้บ้าง แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ การเปรียบไก่ทุกครั้งเจ้าของไก่เท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือไก่ ให้ได้เปรียบคู่เข้าไว้เป็นการดี แต่พอมาสมัยใหม่นี้ จะมีซุ้มไก่ดัง ๆ ซุ้มใหญ่ ๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย มีคนเลี้ยงไก่ ซุ้มละหลาย ๆ คน ที่เลี้ยงไก่ออกชนทีละมาก ๆ ตัว เวลาออกชนก็ออกได้ทีละ 4 - 6 ตัว หรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะปัจจัยเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันนี้ การแพ้หรือชนะถือเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ต่างกับสมัยก่อนมากครับ เพราะฉะนั้นพิธีกรรมต่าง ๆ ในสมัยใหม่นี้จะไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ควรลืมเสียเลยนะครับควรเชื่อถือเอาไว้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ เพราะเป็นเรื่องสืบถอดกันมาเป็นเวลานานมาก ถ้าไก่ที่เราเปรียบได้คู่แล้วยังรอเวลาชนอยู่ ให้เจ้าของไก่โปรดระมัดระวังให้ดีอย่าให้ใครเข้ามาใกล้ หรือขอจับไก่เป็นอันขาด เพราะเราไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า เฝ้าไก่ไว้ให้ดีเพื่อป้องกันการถูกวางยาไก่ของเราเอง ต้องหาเชือกมาล้อมไว้เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาในบริเวณที่ขังไก่ไว้เด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของไก่จากการถูกลอบวางยา

กิจกรรม ในขณะที่ชนไก่

ในการนำไก่ออกชนทุกครั้ง เราต้องเตรียมของใช้ในการชนไก่ให้พร้อมเสมอครับ เช่นข้าวปากหม้อ (ข้าวที่เราตักก่อนคนกิน) ตระไคร้ ใบพลู ผ้าสำหรับรมควัน กระเบื้อง เข็ม ด้ายเบอร์ 8 เบอร์ 20 และมีดโกนมีดซอยผม สมุนไพรต่าง ๆ ที่จะนำไปช่วยเหลือไก่ในระหว่างที่ชน เตรียมให้พร้อม การเข้าปากไก่ หรือการคุมปากไก่ ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกันนะครับ การคุมปากไก่ก็คือการคุมปากไก่ป้องกันไม่ให้ปากหลุดระหว่างชน (ปากบน) การคุมปากไก่ควรถักให้แน่นพอประมาณ อย่าให้แน่นจนเกินไปจะทำให้ไก่ไม่ตีไก่ ควรถักสัก 4 เปาะ การคุมปากนี้ไม่ต้องใช้เข็มถักก็ได้ แต่ต่างกับการเข้าปากไก่มาก กรณีปากไก่หลุดต้องเข้าใหม่ ต้องเอาสำลีเช็ดเลือดที่ปากให้แห้ง แล้วเอาปากที่เราเตรียมไว้ต่างหากต้มในน้ำร้อนพอประมาณแล้วนำขึ้นมาจุ่มน้ำเย็น เช็ดให้แห้งแล้วนำไปสวมปากแทนปากเดิมที่หลุด แล้วเข้าปากเข้า 4 เปาะ เช่นกัน แต่ต้องดึงด้ายให้ตึงมือมากกว่าคุมปาก เพื่อป้องกันไม่ให้ปากที่สวมไว้หลุดออกระหว่างที่กำลังชนอยู่ พยายามอย่าให้แน่นจนเกินไป ถ้าแน่นเกินไปมากจะทำให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้ เราต้องช่วยตัวเราเอง อย่าให้ใครที่มาขอรับอาสาเข้าปากไก่ให้เป็นอันขาด นอกจากพวกของเราเองที่ไว้ใจได้เท่านั้น เพราะพวกที่หวังดีที่จะช่วยคุมปากไก่ หรือคมปากไก่เรานี้ ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเราจริงหรือถ้าเข้าปากไปแล้วไก่ไม่ตีไก่โอกาสแพ้มีแน่นอน เพราะฉะนั้นการเลี้ยงไก่ไว้ชนนี้เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งไก่ พร้องทั้งคน ไม่ใช่คนพร้อมแล้ว แต่ไก่ยังไม่พร้อมเราก็อย่าเพิ่มเอาไก่ออกชนเป็นเด็ดขาด อย่าไปเก่งกว่าไก่เป็นอันขาด ไก่จะพร้อมหรือไม่พร้อมอยู่ที่ความสมบูรณ์ของไก่ เจ้าของไก่เท่านั้นจะรู้ว่าไก่สมบูรณ์หรือไม่ อย่าไปเก่งกว่าไก่เป็นอันขาด วันนี้เราชนไม่ได้ เอาไว้ชนวันอื่นก็ได้ บางคนถือว่าวันนี้ออกจากบ้านต้องชนให้ได้ กลัวไก่ค้างนัดบ้าง ขี้เกียจเลี้ยงต่อบ้าง เล็กกว่าก็ชนให้บ้าง ส่วนมากมักจะเป็นอย่างนั้น คือเก่งกว่าไก่ว่างั้นเถอะ ผลปรากฏว่าแพ้เกือบทุกทีไป เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเก่งเกินไก่เป็นอันขาด ชนไม่ได้ก็ไม่ต้องชนกลับบ้านไป หรือยังไม่ได้เสียเงินไม่สบายใจ ก็หาเล่นไก่ของคนอื่นต่อไปก็ได้ อย่าไปคิดว่าต้องอยู่ชนไก่ให้ได้ จะทำให้เราเสียเงินเปล่า ๆ

เชิงไก่ชน

เชิงไก่ชน

เชิงไก่ชน
  1. เชิงสาด ตีคู่ต่อสู้โดยไม่ต้องจิกหรือที่เรียกว่าสาดแข้งเปล่า
  2. เชิงเท้าบ่า เอาไหล่ชนกันแล้วยืดคอไปจิกบ่าคู่ต่อสู้แล้วตีเข้าท้องหรือหน้าอก
  3. เชิงลง มุดต่ำจิกขาจิกข้าง พอคู่ต่อสู้เผลอโดดขึ้นตี
  4. เชิงมัด มุดเข้าปีก โผล่ไปจิกหัว หู หรือสร้อย แล้วตีเข้าหัว คอ หรือตะโพก
  5. เชิงบน ใช้คอขี่พาด กด ล๊อค ทับ กอด ให้คู่ต่อสู้หลงตีตัวเอง เมื่อได้ทีจะจิกหู ด้านนอก หูใน หรือสร้อยแล้วตีเข้าท้ายทอย
  6. เชิงม้าล่อ หลอกคู่ต่อสู้วิ่งตาม พอได้ทีตีสวนกลับ
  7. เชิงตั้ง ยืนตั้งโด่ จิกสูงแล้วบินตี(เชิงนี้เสียเปรียบเชิงอื่น )
  8. เชิงลายชักลิ่ม เอาหัวหนุนคอหนุนคางคู่ต่อสู้ ลอกให้อีกฝ่ายกดลงแล้วชักหัวออก พอคู่ต้อสู้พลาดก็จิกหัวตี
ไก่เชิงนี้เป็นตัวปราบไก่เชิงบนขี้จุ้ยที่ขี่กอดทับแล้วไม่ตี ในจำนวน 8 เพลงท่านี้ แบ่งแยกได้อีก 15 กระบวนยุทธ คือ
  • เชิงเท้าบ่า แยกเป็น เท้าตีตัว เท้าจิกหลังกระปุกน้ำมัน
  • เชิงหน้าตรง แยกเป็น ตีหน้ากระเพาะ หน้าคอ หน้าหงอน
  • เชิงมัด แยกเป็น มัดโคนปีก มัดปลายปีก
  • เชิงลง แยกเป็น มุดลงจิกขาลงซุกซ่อน ลงลอดทะลุหลัง
  • เชิงบน แยกเป็น ขี่ ทับ กอด ล๊อค มัด
  • เชิงลายชักลิ่ม แยกเป็น ยุบหัว

วิธีเปรียบไก่ก่อนชน

วิธีเปรียบไก่ก่อนชน

วิธีเปรียบไก่ก่อนชน การเปรียบไก่เป็นชั้นเชิงของนักเลงไก่ชนทุกประเภท ถือว่าเป็นความสำคัญที่สุดในการชนไก่ก็ว่าได้ เพราะถ้าเปรียบไก่เสียเปรียบคู่ต่อสู้แล้ว ทางชนะมีอยู่แค่ 30% เท่านั้น นอกเสียจากไก่ของเราเก่งมากจริง ๆ จึงจะชนะได้ ถ้าท่านเป็นนักเลงไก่ที่ดีควรเปรียบไก่ให้รอบคอบ อย่าให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้เป็นอันขาด ถ้าเปรียบไก่ได้เปรียบคู่ต่อสู้แล้ว จะเป็นทางนำมาซึ่งชัยชนะอย่างง่ายดาย เคล็ดลับในการเปรียบไก่มีอยู่ด้วยกัน 5 วิธีคือ
  1. อายุ ควรพิจารณาคู่ต่อสู้ว่าเป็นไก่รุ่นเดียวกันหรือเปล่า แต่ถ้าของเราเป็นไก่ถ่ายของคู่ ต่อสู้เป็นไก่หนุ่มแล้ว ปัญหาเรื่องอายุก็หมดไป
  2. ผิวพรรณ ต้องดูหน้าตาคู่ต่อสู้ว่าหน้าตาแก่กร้านมากกว่าเราหรือเปล่า ถ้าผิวพรรณหน้าตาแก่กร้านมากกว่าเรา การเอาชนะก็จะยาก
  3. การจับตัว การเปรียบไก่ต้องจับตัวไก่คู่ต่อสู้ การจับไก่ต้องจับให้แน่นและดูบุคลิกลักษณะของคู่ต่อสู้ว่า แคร่หลัง คอ ปั้นขา ส่วนต่าง ๆ อย่าให้ใหญ่กว่าของเราเป็นการดี
  4. ส่วนสูง เราต้องเปรียบตามลักษณะของไก่ของเราชอบ ถ้าไก่ชอบตีบน ควรเปรียบให้ สูงกว่าคู่ต่อสู้ แต่ถ้าไก่ชอบตุ้มชอบคาง ก็ควรเปรียบให้ต่ำกว่าคู่ต่อสู้เล็กน้อย (แต่ต้องให้ตัวของเราใหญ่กว่านิดหน่อยจึงจะพอดีกัน) บางคนชั้นเชิงการเปรียบไก่สูงมากมักจะกดไก่ให้ตัวต่ำมากเวลาเปรียบ ข้อนี้ท่านต้องพิจารณาให้ดี พิจารณาด้วยตัวของท่านเองว่าจะตีได้หรือไม่ได้
  5. การดูสกุลไก่ การดูสกุลไก่ต้องดูว่าลักษณะไก่คู่ต่อสู้มีสีสันอะไร หน้าตาเป็นอย่างไรเกล็ดตามขา หน้าแข้ง เป็นอย่างไรดีกว่าเราหรือเปล่า ถ้าคู่ต่อสู้มีดีกว่าเรา เราไม่ควรชนด้วย เพราะโอกาสชนะมีน้อยมาก ถ้าลักษณะคล้ายคลึงกัน การแพ้ ชนะอยู่ที่น้ำเลี้ยงของไก่เอง

ไก่ชนที่ควรหาซื้อโดยไม่ต้องปล้ำ

ไก่ชนมีอยู่ด้วยกันหลายสี ส่วนมากนิยมสีเหลืองหางขาว ประดู่หางดำ และเขียวกา ไก่สามสีเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล แต่ไม่มีในตำรา แต่ประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยพบเห็นมา ส่วนมากชนชนะมากกว่าแพ้ คือ
  1. ไก่สีด่างแต่เดือยดำ (ด่างสามสีหรือเรียกว่าด่างดอกมะลิ)
  2. ไก่สีเทาเดือยดำ (ตัวสีเทาสร้อยคอเหลือง หรือเทาทอง)
  3. ไก่สีเทาเขียวหรือเรียกว่าเทาดำ (ไม่ใช่เทาขี้ควาย)
  4. ไก่เขียวแต่คอโกร๋น (ตรงโคนคอไม่มีขน)
  5. ไก่ตาดำเดือยดำ
  6. ไก่เขียวปากขาว แข้งขาว ตาขาว (ตาปลาหมอตาย)
ไก่ 6 ชนิดนี้ ถ้าท่านพบเห็นที่ไหน ไม่ต้องปล้ำก็ซื้อได้เลยแต่อย่าซื้อให้แพงนัก ตามตำราบอกว่าไก่ 6 อย่างนี้ ถ้าเปรียบไม่เสียเปรียบ และร่างการสมบูรณ์ดีเต็มที่แพ้ไม่เป็น หรือถ้าแพ้ก็ต้องเป็นต่อ จนเจ้าของออกตัวได้ลอยลำจะแพ้รวดเลยไม่มีแน่นอน (ต้องดูเกล็ดเป็นสิ่งสำคัญทั้งคู่ต่อสู้และของเราด้วย ว่าใครเหนือใคร)

วิธีดูลักษณะไก่ชน

วิธีดูลักษณะไก่ชน

วิธีดูลักษณะไก่ชน ตามปกติลักษณะ และบุคลิกเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ไก่ชนตัวใดมีบุคลิกลักษณะดี ไก่ตัวนั้นก็มักจะเก่งเป็นส่วนมาก การดูบุคลิกลักษณะไก่ชนที่เก่งมีส่วนประกอบหลายอย่าง
  1. ใบหน้าเล็ก คางรัด
  2. หงอน (หงอนบางกลางหงอนสูง) (หงอนหิน)
  3. ปากเป็นร่องน้ำสองข้างลึก (ปากสีเดียวกับขา)
  4. นัยตาดำเล็ก ตาขาวมีสีขาว (ตาปลาหมอตาย) (หรือตาสีเดียวกับสร้อยคอ)
  5. สีของขน
  6. สร้อยคอต้องยาวติดต่อสร้อยกลางหลัง
  7. ปากใหญ่ยาว
  8. คอใหญ่และกระดูกปล้องคอถี่ ๆ
  9. หางยาวแข็ง
  10. กระดูกหน้าอกใหญ่ ยาว
  11. แข้งเล็ก แห้ง ร่องเกล็ดแข้งลึก และกลม เกล็ดแข้งใส เหมือนเล็บมือ
  12. นิ้วเล็กยาว เล็บยาว
  13. เม็ดข้าวสารนูนเวลาใช้มือลูบจะคายมือ
  14. โคนหางใหญ่
  15. อุ้งเท้าบาง แคร่หลังใหญ่
  16. เส้นขาใหญ่
การดูเกล็ดแข้ง

การดูเกล็ดแข้ง

การดูเกล็ดแข้งก็เหมือนการดูลายมือคน เกล็ดแข้งตามตัวอย่างนี้ มิใช่ว่าไก่ที่มีแข้งแบบนี้แล้วจะไม่แพ้ใคร ลักษณะของการแพ้นั้นมีอยู่หลายวิธี คือ
  1. ไก่ไม่สมบูรณ์หมายถึง เจ็บป่วยโดยที่เราไม่รู้ เรานำไปชนก็มักจะแพ้
  2. เปรียบเสียเปรียบคู่ต่อสู้ คือเล็กกว่าบ้าง ต่ำกว่าบ้างเป็นเหตุทำให้แพ้ได้
  3. ผิดเชิง ไก่บางตัวชอบตีไก่ตั้ง เวลาชนไปเจอไก่ลงตีไม่ได้ก็แพ้ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการดูเกล็ดแข้งจึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้ไว้บ้าง แข้งตามตัวอย่างนี้เป็นส่วน ประกอบเวลาท่านจะไปหาไก่ถ้ามีเกล็ดแบบนี้แล้ว ท่านทดลองปล้ำดูพอใจแล้วค่อยเอา ถ้าไก่สมบูรณ์ ชนไม่เสียเปรียบ รับรองว่าชนะมากกว่าแพ้ แต่ว่ารู้สึกว่าจะหายากสักหน่อย

วิธีการผสมพันธุ์ไก่

วิธีการผสมพันธุ์ไก่

วิธีการผสมพันธุ์ไก่ชน ไก่ที่จะใช้ผสมพันธุ์ ต้องคัดเลือกจากไก่ตัวผู้ และตัวเมียที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคขี้ขาว เป็นหน่อ มะเร็ง คอคอก หวัด เพราะถ้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นโรคแล้วอาจจะมาติดถึงลูกได้ เพื่อให้ได้ผลในการผสมพันธุ์ ควรใช้ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 5 ตัวและไม่ควรขังให้อยู่ในเล้าที่จำกัด ควรปล่อยให้อยู่ในที่กว้าง ๆ อาหารต้องสมบูรณ์อาหารที่ใช้คือ ข้าวเปลือก ปลาสด (ควรต้มเสียก่อน) หญ้าอ่อน ถ้าไม่มีหญ้าควรให้ผักสดกิน ถ้าทำเช่นนี้ได้จะได้ลูกไก่ที่สมบูรณ์ (ข้อสำคัญไก่ที่จะทำพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ควรนำไปให้ปศุสัตว์ตรวจโรคเสียก่อน)

การเตรียมรังสำหรับฟักไข่

ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น กีฬาชนไก่เป็นกีฬาโบราณ ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์ หรือทำรังให้ไก่ฟักย่อมมีพิธีรีตองมากเป็นธรรมดา ถ้าทำลำบากมักจะให้ประโยชน์คุ้มค่าเสมอ ท่านต้องหาของที่โบราณเขาถือมาใส่รังไก่ให้ครบ ท่านก็จะได้ไก่ที่ฟักออกมาเก่ง ๆ ทุกตัว
ของที่ใช้ประกอบการฟักไข่มีดังนี้
  1. กระบุง การใช้กระบุงทำเป็นที่รองสำหรับฟักไข่ ก็เพราะว่ากระบุงเป็นภาชนะสำหรับ ใส่ของซื้อ ของขายได้ทีละมาก ๆ จึงเป็นมงคลด้วย
  2. มูลฝอยสำหรับรองรังไข่ ควรใช้ของดังนี้
    • ไม้ฟ้าผ่า (ทำให้ไก่ตีแรง จนให้คู่ต่อสู้ชักดิ้น)
    • คราบงูเห่า (ทำให้แข้งมีพิษ)
    • ทองคำ (ทำให้สีสวย)
    • ไม้คานหักคาบ่า (ทำให้มีลำหักลำโค่น)
    • หญ้าแพรก (เวลาชนทำให้ฟื้นง่ายเหมือนหญ้าแพรก)
  3. การคัดไข่ การเก็บไข่ไว้ฟักควรเลือกไข่ที่สมบูรณ์ไม่บูดเบี้ยว และน้ำหนักมาก ไม่น้อย กว่า 45 กรัม หรือใกล้เคียง ถ้าท่านทำได้ตามนี้ท่านจะได้ไก่เก่งประมาณ 80% การทำรังให้ไก่ฟักไม่ควรให้แดดส่อง หรือฝนสาดได้เพราะจะทำให้ไข่เสีย การฟักแต่ละครั้ง ไม่ควรฟักเกิน 10 หรือ 11 ใบ ถ้าฟักเกินแล้วจะทำให้ไข่เสียมาก ฟักประมาณ

วิธีเลือกไข่ขึ้นฟัก

การเลือกไข่ขึ้นฟัก ใช้สมุดปกอ่อนม้วนเป็นรูปกระบอกแล้ว นำไข่ที่ฟักไปประมาณ 15 วัน ใส่ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ส่องให้ตรงกับพระอาทิตย์ ถ้าไข่มีเชื้อจะมองเห็นเป็นสีดำสนิท แต่ถ้าไข่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นในไข่เป็นแสงสว่าง ไข่ไม่มีเชื้อควรคัดออกได้เลย ถ้าเก็บไว้มาก นอกจากจะทำให้แน่นกันแล้ว จะทำให้ไข่ดีเสียไปมากอีกด้วย

วิธีเลี้ยงลูกไก่

ตามปกติลูกไก่อ่อนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากมากเพราะจะมีโรคหลายชนิดแล้วยังจะมีสัตว์อื่นรบกวนอีกมากเช่น เหยี่ยว สุนัข งู แมว กา และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นท่านต้องระวังให้มาก หลังจากลูกไก่ออกแล้วให้นำลูกไก่มาขังไว้ในที่ ๆ สะอาด อย่าให้ลมโกรกมาก เวลานอนควรให้นอนในมุ้งอย่าให้ยุงกัดได้ เพราะจะทำให้เกิดโรคฝีดาษได้ อาหารสำหรับลูกไก่ ในระยะ 10 วันแรก ควรใช้ปลายข้าวกล้องอย่างละเอียด ผสมอาหารไก่อ่อนซึ่งมีขายตามร้านอาหารไก่ คลุกกับน้ำพอเปียกให้กิน ส่วนน้ำใช้ไวตามินผสมให้กินหลังจาก 10 วันไปแล้วใช้ข้าวกล้องเม็ดโตผสมอาหารไก่และน้ำเช่นเดิมให้กินพออิ่มแล้ว ใช้ปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดต้มให้สุกปั้นเป็นลูกกลอนเล็ก ๆ ให้กิน หรือผสมกับอาหารไก่ให้กินหลังอาหารแล้ว พออายุประมาณ 1 เดือน เริ่มให้กินข้าวเปลือกเม็ดเล็กได้แล้ว หลังจากกินข้าวเปลือกอิ่มแล้ว ควรให้กินปลาตัวละประมาณเท่าหัวแม่มือทุกวัน ลูกไก่ที่ท่านเลี้ยงจะโตเร็วกว่าปกติ โรคสำหรับไก่ชนเราส่วนมากจะมีโรคร้ายแรงอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหวัด โรคบิด ไก่ที่เป็นโรคชนิดนี้ส่วนมากกระเพาะอาหารไม่ย่อย หงอยซึมอยู่ตลอดเวลา ควรใช้ยาซัลฟาควินน็อกซาลิน ผสมน้ำตามส่วนให้กิน หรือใช้หยอดก็ได้ติดต่อกัน 3 วัน แล้วเว้น 1 วันจนกว่าจะหาย การเลี้ยงลูกไก่ หลังจากออกจากไข่แล้วประมาณ 10 วัน ควรให้อยู่กับแม่ก่อน สถานที่เลี้ยงไม่ควรให้แฉะ ควรเป็นที่ร่มมีแดดรำไรและที่สำคัญที่สุดต้องมีหญ้า เพราะหญ้าจะเพิ่มวิตามินซีให้กับไก่

Thursday, August 25, 2011

การหาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่

การหาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่

โดยปกตินักเลงเล่นไก่ชนมักจะหวงพันธุ์ของแม่ไก่มากกว่าของพ่อไก่ เพราะถือกันว่าสายเลือดของแม่จะให้ได้ลูกไก่พันธุ์ที่ดี วิธีที่จะหาพ่อพันธุ์ให้ได้ไก่เก่ง ท่านต้องเป็นซอกแซกไปเที่ยวตามบ่อนไก่ชนบ่อย ๆ และคอยดูว่าไก่ตัวไหนที่เก่ง คือตีแม่น ชั้นเชิงดี หัวใจทรหด อดทน ไม่หนีง่าย ถ้าไก่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เวลาชนเสร็จแล้วชนะ หรือแพ้ จะตาบอดหรือไม่ก็ตาม เอามาทำพ่อพันธุ์ได้ (ตามตำราบอกว่าเอาไก่ที่แพ้มาทำพ่อไก่มันให้ลูกเด็ดนักแล) ท่านซื้อตอนนั้นราคาอาจจะไม่สูงนัก เพราะนักเลงไก่เขาไม่ค่อยเก็บเอาไว้ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้ดังกล่าว ท่านต้องไปหาซื้อเอาตามบ้านนักเล่นไก่ชน ส่วนแม่พันธุ์ก็ควรให้มีคุณสมบัติเหมือนตัวผู้ เพราะการผสมพันธุ์ ถ้าทำโดยวิธีการสุกเอาเผากินแล้วจะทำให้ท่านได้ไก่ดียาก เพราะกว่าจะรู้ว่าตัวไหนดีหรือไม่ดีต้องเสียเวลาอย่างน้อยประมาณ 9 - 10 เดือน
การหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ไก่ ไก่ชน

วิธีคัดเลือกแม่พันธุ์ และแม่พันธุ์ไก่

โดยปกตินักนิยมเล่นไก่ชนมักจะเลือกสีเป็นอันดับแรก ดังนั้นไก่ที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์ควรเลือกจากไก่ที่มีสีดังต่อไปนี้
  1. สีเหลืองหางขาว
  2. สีประดู่หางดำ เดือยดำ เล็บดำ ปากดำ (หรือปากคาบแก้ว)
  3. สีเขียวเลา (มีสีเขียวสลับกับสีขาวทั้งตัว หางขาวด้วย)
  4. สีเขียวกา หรือเขียวแมลงภู่ (หางดำ)
เพราะโบราณกล่าวไว้ว่าไก่ 4 สี นี้เป็นสีที่รักเดิมพันมาก ชนได้ราคาแพง ไม่ค่อยแพ้ ส่วนไก่ สีอื่น ๆ นักเลงเล่นไม่นิยมเล่นกัน เพราะเข้าใจว่าเป็นไก่พันธุ์ผสมมาจากสายเลือดอื่น ที่ไม่ใช่ไก่ชนแท้ อาจจะผสมกับไก่โรดส์ หรือไก่เร็คฮอนก็เป็นได้ น้ำใจไก่พวกนี้จึงไม่ทรหดมาก สำหรับแม่พันธุ์นั้นเวลาใช้ผสมพันธุ์ ควรหาให้เป็นสีเดียวกับพ่อพันธุ์ เวลาให้ลูกจะได้สีเหมือนกัน

คุณสมบัติ และลักษณะของพ่อพันธุ์ไก่

นอกจากสีของไก่แล้ว พ่อไก่ควรมีคุณสมบัติ และลักษณะดังต่อไปนี้
  1. ควรเป็นไก่ที่มีประวัติที่ดี เคยชนชนะจากบ่อนมาแล้ว
  2. ปากต้องใหญ่ มีร่องน้ำ 2 ข้างปากลึก (ปากสีเดียวกับขา)
  3. นัยตาควรเป็นสีขาว (หรือที่เรียกว่าตาปลาหมอตาย หรือตาสีขน สีเดียวกับสร้อยคอ)
  4. คอใหญ่ และปล้องคอถี่ ๆ
  5. หัวปีกต้องใหญ่ และขนปีกยาว
  6. นิ้วเล็กเรียวยาว
  7. เม็ดข้าวสารท้องแข้งใหญ่ และแข้งกลม
  8. สร้อยคอยาวติดต่อกันถึงสร้อยหลัง
  9. หางยาวแข็งและเส้นเล็ก
  10. กระดูกหน้าอกใหญ่และยาว
  11. เดือยใหญ่ และชิดนิ้วก้อยมากที่สุด
  12. อุ้งเท้าบางและเล็บยาว
  13. เกล็ดแข้งใสเหมือนเล็บมือ และมีร่องลึก

ชั้นเชิงของไก่ชน

ปกติไก่ชนจะมีชั้นเชิงการต่อสู้อยู่ 2 อย่าง คือไก่ตั้ง และไก่ลง ส่วนไก่กอดนั้นเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ไก่ตั้ง แม่พันธุ์ไก่ลง หรือพ่อพันธุ์ไก่ลง กับแม่พันธุ์ไก่ตั้ง ลูกออกมาจึงกลายมาเป็นไก่กอด ส่วนนักเลงเล่นส่วนมากชอบไก่ตั้ง เพราะการต่อสู้ของไก่ตั้งนั้นเหนื่อยช้าไม่ต้องวิ่งมาก เพราะยืนคอยดักตีอย่างเดียว แต่บางคนชอบไก่เชิง เพราะไก่เชิงไม่ค่อยเจ็บตัวเวลาเข้าชนจะลักตีขโมยตี ดังนั้นถ้าท่านจะผสมก็ควรเลือกชั้นเชิงไก่ให้เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าท่านชอบไก่เชิง ก็ควรหาตัวเมียที่มีชั้นเชิงเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านชอบไก่ตั้ง ก็ควรเลือกตัวเมีย ให้ตั้งเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านไม่เลือกชั้นเชิงให้เหมือนกันแล้ว ลูกออกมาจะชนเลอะเทอะเป็นไก่โง่ ควรระวังให้มาก เพราะปกติไม่ค่อยคัดเลือกไก่กัน ผสมกันเรื่อยไปจึงไม่ค่อยได้ไก่เก่ง ได้น้อยตัว








สายพันธุ์ ไก่ชน ทองแดงหางดำ

ทองแดงหางดำ

ไก่ชน พันธุ์ ทองแดงหางดำ ไก่ชนพันธุ์ทองแดงหางดำ ไก่ชนสายพันธุ์นี้ เป็นพันธุ์แท้แต่โบราณ ทราบได้สมัยอยุธยา ตอนฉลองกรุงหงสาวดีจัดให้มีการชนไก่ หน้าพระที่นั่งพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้นยังทรงพำนักอยู่หงสาวดี ได้มีรับสั่งให้สมเด็จพระน้องยาเธอ พระเอกาทศรถ นำไก่ไทยไปร่วมชนในงานฉลองกรุงหงสาวดีครั้งนั้นด้วยไก่ทองแดงหางดำ ได้ไปสร้างชื่อเสียงเอาชนะไก่พม่าได้อย่างง่ายดาย
แหล่งกำเนิด ไก่ทองแดงหางดำ มีแหล่งกำเนิดอยู่ทั่ว ๆ ไป ไก่ดังในอดีตที่ เพชรบุรี ราชบุรี อยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เป็นต้น ไก่ทองแดงหางดำ เป็นไก่ขนาดกลาง น้ำหนักโดยเฉลี่ยตัวผู้ประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม ตัวเมีย 2.5-3 กิโลกรัม สีของเปลือกไข่และลูกเจี๊ยบ เปลือกไข่สีน้ำตาลอมแดง ลูกเจี๊ยบสีแดง ทั้งตัวแบบไก่โร้ดไอร์แลนด์เรด ปาก แข็ง เล็บ เดือยสีเหลืองอมแดง ตาสีแดงอ่อน อาจารย์พนได้เป็นผู้ให้ข้อมูล ดังนี้
รูปร่างลักษณะไก่ทองแดงหางดำ มี
  • รูปร่าง ทะมัดทะแมง ทรงหัวปลีกล้วย ช่วงไหล่กว้าง อกเป็นมัด มีกล้ามเนื้อลำตัวยาวจับกลม 2 ท่อน ไหล่หน้าใหญ่ บั้นท้ายโต ปั้นขาใหญ่แข็งแรง หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าวหรือแบบหางม้า
    ใบหน้า แหลมกลมอูมแบบนกกา
  • ปากปากใหญ่แบบปากนกกา ปลายปากงองุ้มเล็กน้อย ปากมีร่องน้ำทั้ง 2 ข้าง ปากสีเหลืองอมแดง
  • จมูก จมูกแบบราบสีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง แคมหรือฝาปิดจมูกสีเดียวกับปาก
    ตา ขอบตาเป็นรูปวงรี มีขอบตา 2 ชั้น ดวงตาสีแดง มีประกายแจ่มใส คิ้วขอบตานูนรับกับตา
  • หงอน หงอนเป็นหงอนหิน 3 แฉก ผิวหงอนเรียบสีแดงสดใส
  • ตุ้มหู ตุ้มหูรัดติดกับหูมีสีแดงเหมือนหงอน
  • เหนียง รัดกลมกลึงติดกับคาง บางตัวอาจมีเหนียงแลบออกมาเล็กน้อย สีแดงสดใสแบบหงอน และตุ้มหู
  • กะโหลก กะโหลกใหญ่และยาวเป็น 2 ตอน ส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย มีรอบไขหัวเห็นได้ชัดเจน
  • คอ คอใหญ่ยาวโค้งไปข้างหน้าแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดแน่นรับกับร่องไหล่ ขนคอขึ้นเป็นระเบียบสีเดียวกับขนหลังขนสร้อยคอยาวประบ่า
  • ปีก ปีกใหญ่และยาวแน่น ขนปีกเรียงเป็นระเบียบ ไม่มีช่องโหว่ไขไชปีกจะมีสีดำแน่น จนปีกใน สีแดงเหมือนขนพื้นตัว
  • ตะเกียบ แข็งหนาและตรง
  • หาง หางพัดปลายมนกลม สีดำยาวไม่ต่ำกว่า 1 คืบ หางกะลวยเส้นเล็กกว่าหางพัดปลายแหลมยาว ไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต หางกะลวยดกเป็นฟ่อนข้าวหรือแบบหางม้า กระเบนหางใหญ่ชิดกับกระดูกสันหลัง กระปุกน้ำมันใหญ่มีอันเดียว
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ล่ำสัน มีขนสีแดงขึ้นเต็มถึงข้อขา แข้งสีเหลืองอมแดง แข้งกลมแบบลำหวายหรือ ลำเทียน
  • เกล็ด เกล็ดเป็นเกล็ดพัดใหญ่ ๆ เรียงเป็นระเบียบ 2-3 แถว สีเดียวกับแข้ง มักมีเกล็ดสำคัญ เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บใน ไชบาดาล ผลาญศัตรูหรือเกล็ดอื่นๆในไก่ตัวดีๆ
  • นิ้ว-เล็บ นิ้วกลมยาวเรียบแบบเล่มเทียน เล็บและเกล็ดสีเดียวกับแข้ง มักมีเกล็ดนิ้วแตกเป็นเกล็ด พิฆาตเล็บเรียวแหลม จมูกเล็บแน่น
  • เดือย เป็นเดือยขนเม่นหรืองาช้าง สีเดียวกับแข้งและเกล็ด
  • ขน ขนพื้นตัวตั้งแต่หน้าคอ หน้าอก ใต้ปีก ใต้ท้อง จะมีสีแดง ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า ขนปิดหู จะมีสีแดงเป็นมัน ขนไชปีก ขนหางพัด หางกะลวยสีดำ
  • กิริยาท่าทาง ไก่ทองแดงหางดำ เป็นไก่ที่มีกิริยาท่าทางองอาจ ทะมัดทะแมงแบบไก่ประดู่หางดำ จะยืนเดินวิ่งชนดูคล่องแคล่วแข็งแรง จะยืนกระพือปีกตลอดเวลา เมื่อพบไก่อื่นๆ จะแสดงท่าอาการต่อสู้เสมอ ไก่ทองแดงเป็นไก่ชนเชิงหลัก มัด ตั้ง กอด คุมตีบน ตีเท้าบ่าเป็นส่วนใหญ่
ไก่ทองแดงหางดำแบ่งตามเฉดสีได้ 4 ชนิด คือ
  1. ทองแดงใหญ่ ขนพื้นตัวและขนสร้อยจะมีสีเข้มแดงอมดำ ปากแข็ง เล็บเดือยสีเหลือง อมแดงอม ดำตาแดง ไก่ทองแดงใหญ่บางแห่งเรียกว่าไก่ทับทิม
  2. ทองแดงตะเภาทอง ขนพื้นตัวและขนสร้อยจะสีออกเหลืองส้มตามแบบไก่ตะเภาหรือสีแบบสีทองคำแท่ง ปาก แข้ง เล็บ เดือย มีสีเหลืองอมแดง ตาเหลืองอมแดง
  3. ทองแดงแข้งเขียวตาลาย ขนพื้นตัวขนสร้อยจะสีเข้มอมดำคล้าย ๆ แดงใหญ่ แต่ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเขียวอมดำ ตาลาย แดงดำ
  4. ทองแดงอ่อนหรือสีปูนแห้ง ขนพื้นตัว ขนสร้อย จะสีแดงซีด ๆ แดงอ่อนๆ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมแดงเหมือนกับตะเภาทอง
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ไก่ทองแดงหางดำเพศเมีย
  1. ขนพื้นตัวด้านล่าง หน้าคอ หน้าอก ใต้ปีก ใต้ท้อง ก้น สีแดง
  2. ขนคอ ขนหลัง ขนปีก สีแดงแก่กว่าขนพื้นตัวเล็กน้อย
  3. ขนสร้อยคอ จะมีแดงขลิบแลบออกมาเล็กน้อยตามเฉดสีแต่ละชนิด ขนปิดหูสีแดง
  4. ขนไชปีก ขนหางพัดสีดำ ขนทับหางสีแดง
  5. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง จะเข้มหรืออ่อนตามเฉดสีพันธุ์ตาสีแดง
  6. ไก่ทองแดงเพศเมียจะเป็นไก่ทรงรูปปลีกล้วย ไหล่หน้าจะใหญ่ ท้ายจะมนกลม กระโปรงหางจะรัดและยาวแบบตัวผู้

สายพันธุ์ ไก่ชน พันธุ์เขียวเลาหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เขียวเลาหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เขียวเลาหางขาว ไก่ชนพันธุ์เขียวเลาหางขาว สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย กำหนดไว้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 ในงานภูมิปัญญาเกษตรกรไทย ณ. อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี
แหล่งกำเนิด มีแหล่งกำเนิดที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร เพชรบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย สีเปลือกไข่ เปลือกสีขาวอมน้ำตาล ลูกเจี๊ยบหัวขาว หน้าคอ หน้าอกสีขาว สันหลังดำ ปีกในดำ ไชปีกนอกขาว ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลือง อมน้ำตาล ตาสีขาวอมเหลือง
ประวัติความเป็นมา ไก่เขียวเลาหางขาวเป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ ทราบได้ในสมัยอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาสมุหกลาโหม กำแพงเพชร นิยมไก่เขียวเลาหางขาว และสืบทอดจนถึงปัจจุบัน ชาวกำแพงเพชรกำลังอนุรักษ์ไว้เป็นไก่ประจำจังหวัดกำแพงเพชร
รูปร่างลักษณะเด่นของไก่เขียวเลาหางขาว
  • รูปร่างลักษณะ เป็นไก่ทรงปลีกล้วย ไหล่หน้าใหญ่ ลำตัวกลมยาว หางยาว ท่าทางสง่างาม ทะมัดทะแมง
  • ใบหน้า ใบหน้ากลมกลึงแบบหน้านกกา
  • ปาก ปากใหญ่มีร่องน้ำสองข้าง ปลายปากงองุ้มเล็กน้อย ปากสีน้ำตาลอมเหลืองเล็กน้อย
  • จมูก จมูกแบบราบ สีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง สันจมูกเรียบ
  • ตา ตาเป็นรูปรีแบบตาวัว เป็นรูปตัววี ขอบตาสองชั้น ดวงตาสีเหลืองอมขาว ประกายตาแจ่มใส
  • หงอน หงอนเล็กเป็นหงอนหิน หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ท้ายหงอนกอดกระหม่อม สีแดงสดใส
  • ตุ้มหู ตุ้มสีแดง รัดติดหน้าไม่หย่อนยาน รูหูมีขนขาวดำขึ้นรอบๆ และมีขนเขียวปนขาวปิดรูหู
  • เหนียง เหนียงรัดติดคาง ไม่หย่อนยาน สีแดงสดใสเหมือนสีหงอน
  • กะโหลก กระโหลกหัวยาวสองตอน มีรอยไขหัวชัดเจนตามธรรมชาติ
  • คอ คอใหญ่โค้งลอนเดียวแบบคอม้า คองูเห่า กระดูกปล้องคอชิด ร่องคอชิดไหล่ ขนคอขึ้นเป็นระเบียบ สร้อยคอประบ่า
  • ปีก ปีกยาวใหญ่เป็นลอนเดียวไม่โหว่ ไม่รั่ว ไม่ห่าง ขนปีกสีดำสนิท สร้อยหัวปีกสีเขียวเลา
  • สร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเขียวเลา คือ ขนสร้อยท่อนล่างสีขาว ท่อนปลายสีเขียว บางชนิดปลายสร้อยขลิบทอง หรือมีขนขาวขึ้นแซมหรือปลายสร้อยมีกระจุด
  • หาง หางพัดสีดำ หางกระลวยสีขาวปนดำ กระลวยคู่กลางจะขาวปลอด คู่อื่นๆขาวปลายดำ
  • ตะเกียบ ตะเกียบก้นแข็งหนาและตรงชิด
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ล่ำสันแข้งเรียวกลม ท้องแข้งเป็นสันนูน
ไก่เขียวเลาหางขาวพันธุ์แท้แต่โบราณมีอยู่ 5 สายพันธุ์
  1. ไก่เขียวเลาใหญ่พระเจ้าห้าพระองค์ เป็นสุดยอดของไก่เลาหางขาวศักดิ์ศรีพอกับไก่เหลืองหางขาวพระเจ้าห้าพระองค์ เป็นไก่พระยาสมุหกลาโหม กำแพงเพชร ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเขียวเลา คือ ขนสร้อยท่อนล่างสีขาว ท่อนปลายสีเขียวอมดำแบบสีแมลงภู่ ขนปีกท่อนในสีดำ ท่อนนอกตอนชายปีกสีขาวแซม หางพัดสีดำ หางกระลวยคู่เอกสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ตาสีขาวอมเหลือง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลืองอมน้ำตาล ที่หัวปีกสองข้าง ข้อขาสองข้าง มีจุดกระประแป้งสีขาวอยู่เป็นหย่อมประปรายเรียกพระเจ้าห้าพระองค์ แบบไก่เหลืองหางขาวพระเจ้าห้าพระองค์ ถือว่าเป็นไก่สกุลสูงอีกตัวหนึ่ง
  2. ไก่เขียวเลาเล็กหางขาว เป็นรองจากไก่เขียวเลาใหญ่พระเจ้าห้าพระองค์ ขนพื้นสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำ หางกระลวยสีขาวปนดำ กระลวยคู่กลางขาวปลอด ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเขียวเลาแซมขาว คือ โคนสีขาวปลายเขียวและมีขนขาวขึ้นแซมประปราย ตาสีขาวอมเหลือง ไม่มีหย่อมกระประแป้ง(พระเจ้าห้าพระองค์) ปากแข้งเล็บเดือยสีขาวอมเหลืองแบบเขียวเลาใหญ่
  3. ไก่เขียวดอกเลาหางขาว รองจากเขียวเลาเล็ก เขียวดอกเลาหางขาว ลักษณะอื่นๆเหมือนเลาเล็กหางขาว ตางกันตรงสี ปลายสร้อยเป็นสีเขียวอมน้ำตาล
  4. ไก่เขียวเลาดอกกระ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำ ขนหางกระลวยสีขาวปนดำ สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง โคนขาวปลายเขียว และที่สำคัญที่ปลายสร้อยจะมีจุดกระขาวแบบประแป้งทั่วไป แต่ไม่มีหย่อมกระแบบเขียวใหญ่ ปากแข้งเล็บเดือย สีขาวอมเหลือง
  5. ไก่เขียวเลาสร้อยทอง หรือ เลาขลิบทอง ลักษณะเหมือนเขียวเลาเล็ก แต่ปลายสร้อยจะมีขลิบทองอยู่
จากลักษณะประจำพันธุ์ 5 ชนิดนี้ จัดว่าเป็นไก่เขียวเลาหางขาวทั้งสิ้น ตามความนิยมที่เรียงไว้
ลักษณะประจำพันธุ์ไก่เขียวเลาหางขาวเพศเมีย
ไก่เขียวเลาหางขาวเพศเมียมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ที่สำคัญ คือ ขนพื้นตัวสีดำ ขนหลังสีเขียวอมดำประจุดขาวเล็กน้อย ขลิบสร้อยคอสีเขียวประขาว ปากแข้งเล็บเดือยสีขาวอมเหลือง ตาสีขาวอมเหลือง จะเป็นเขียวเลาชนิดใด ให้สังเกตที่ขลิบขน ปลายสร้อยคอเหมือนขนสร้อยตัวผู้ชนิดนั้นๆ

สายพันธุ์ ไก่ชน พันธุ์เทาหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เทาหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เทาหางขาว ไก่ชนพันธุ์เทาหางขาว ไก่เทา หรือไก่สีเทา หรือไก่เถ้า มีแหล่งกำเนิดทั่วไปของประเทศไทย แหล่งกำเนิดไก่เทาที่มีชื่อเสียง เช่น จังหวัดตาก, อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี, อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และแถบภาคอีสานจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครราชสีมา อุบลราชธานี เป็นต้น ไก่เทาเป็นไก่ขนาดกลางน้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวผู้ประมาณ 3-3.5 กก. ตัวเมียประมาณ 2-3 กก.
  • ลำตัว ไก่เทามีลำตัวสองลักษณะ คือ รูปร่างเพรียวบางยาวระหง กับล้ำเตี้ยรูปหัวปลีและเบี้ยจั่น ลำตัวกลม หางยาวทรงฟ่อนข้าวและทรงหางม้า
  • ใบหน้า กลมกลึง หน้าแบบหน้านก หน้ากา
  • ปาก ปากใหญ่ยาว ปลายปากงุ้ม มีร่องน้ำลึกทั้งสองข้าง ปากสีขาวอมเหลืองรับกับสีแข้ง เล็บ เดือย
  • จมูก รูจมูกโปร่งกว้าง สันจมูกเรียบติดกับปากสีเดียวกับปาก
  • ตา สีตาขาวอมเหลือง มีเส้นเลือดในตาขาวเด่นชัด ขอบตาเป็นรูปวงรี สองชั้น ดวงตาแจ่มใส
  • หงอน เป็นหงอนหินหรือหงอนสามแฉก หน้าหงอนบางกลางหงอนสูง กอดรัดกระหม่อม
  • หู ตุ้มหูรัดตรึง ไม่หย่อนยาน ขนปิดหูสีเดียวกับสร้อย
  • เหนียง เหนียงรัดตรึงติดกับคาง ไม่มีแปะหย่อนยาน สีเดียวกับหงอน
  • กะโหลก ยาว2ตอน ตอนหน้าเรียวยาวเล็กว่าท่อนหลัง มีรอยไขหัวกลางกะโหลก
  • คอ คอยาวรูปเคียว ปล้องคอชิดแน่น สร้อยคอขึ้นเป็นระเบียบ สีเดียวกับสร้อยหลังยาวไปต่อกับสร้อยหลังพอดี
  • ปีก ปีกใหญ่และยาว เป็นปีกลอนเดียวไม่ห่างไม่โหว่ ปีกสีเทาเหมือนขนพื้นตัว สร้อยหัวปีกสีเดียว กับสร้อยคอและสร้อยหลัง
  • ตะเกียบ ชิดตรง
  • หาง หางพัดยาวเรียบเป็นระเบียบสีเทาเดียวกับขนพื้นตัวหรือหางกระรวยสีขาวปนเทา หางทรง ฟ่อนข้าว พลูจีบ หรือหางม้า ขั้วหางใหญ่มีกระปุกน้ำมันใหญ่และอันเดียว
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ กลมกลึง แข้งเรียวกลมกลึงแบบลำหวาย แข้งสีเดียวกับปาก ขนปั้นขาสีเทา
  • เกล็ด เกล็ดแข้งสีขาวอมเหลืองรับกับสีปาก เกล็ดเรียงเป็นระเบียบแบบแถว จระเข้ขบฟันหรือปัด ตลอดจะมีเกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บ ไชบาดาล และอื่นๆ
  • นิ้ว เรียวยาว ปุ่มนิ้วมีตัวปลิง เกล็ดนิ้วมีแตกมีแซม เล็บนิ้วจะสีเดียวกับนิ้วหรือปาก หรือแข้ง
  • เดือย เดือยแหลมคมแบบเดือยงาช้าง ฐานเดือยมั่นคง
  • ขน ขนพื้นตัวสีเทาตามพันธุ์ ขนปีกขนหางพัดสีเทา ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง และขนระย้าสี เดียวกันตามพันธุ์ เช่น ดำ ประดู่ ขี้เถ้า ทองแดง หรือเหลืองทอง
  • กริยาท่าทาง เป็นไก่ที่สง่างามอีกพันธุ์หนึ่ง ยืนเดินทะมัดทะแมง ยืนตัวตรงเล่นสร้อยกระพือปีกตลอดเวลา มีชั้นเชิงหลายกระบวนท่า
สายพันธุ์ไก่เทาหางขาวพันธุ์แท้แต่โบราณ มีอยู่ 6 พันธุ์ คือ
  1. ไก่เทาทองคำหรือเทาฤาษี เป็นไก่เทายอดนิยมอันดับหนึ่งเหนือไก่เทาอื่นใด ไก่เทาทองหรือเทาเหลืองที่โด่งดังเป็นไก่โทนเถ้าของหลวงเมืองตากชนชนะไก่มากมาย ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ของเทาทองคำคือ ขนพื้นตัวสีเทาอ่อนแบบขี้เถ้าฟืน ขนปีกขนหางพัดสีเทาแบบสีพื้นตัว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง และขนระย้าสีเหลืองทอง แบบเหลืองหางขาว ขนกระรวยโคนเทาปลายขาวหรือกระรวยคู่กลางขาวปลอด ปาก แข้งเล็บ เดือยสีขาวอมเหลืองรับกัน ขนปิดหูสีเหลืองทอง ตาสีขาวอมเหลืองแบบสีปลาหมอตายคล้ายไก่เหลืองหางขาวมาก
  2. ไก่เทาทองแดง เป็นไก่เทาอันดับสองรองจากไก่เทาทองคำ ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ของเทาทองแดง ขนพื้นตัวสีเทาแก่ ก้านขนจะแดง ขนปีก ขนหางพัดสีเทาแก่ ขนหางกระรวยสีเทาปลายขาว ก้านขนแดง ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง และระย้าสีทองแดงคล้ายไก่ทองแดง หางดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีขาวอมแดง เกล็ดแข้งขอบเกล็ดสีแดงจะออกเข้มกว่ากลางเกล็ด ขนปิดหูสีแดงแบบสร้อย ตาสีแดง
  3. ไก่เทาสวาด เป็นไก่เทาอันดับสามรองจากเทาทองแดง ลักษณะเด่น ประจำพันธุ์เทา ขนพื้นตัว ขนปีก ขนหางพัดสีเทาแบบลูกสวาด หรือสีเหมือนแมวสีสวาด หรือแมวโคราช ขนกระรวยสีโคนขนสีสวาด ปลายขนสีขาว ขนปิดหู สีเทาสวาดเข้ม กว่าสีพื้นตัว ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลือง ขอบเกล็ดสีเทา ตาสีเหลืองไพล
  4. ไก่เทาหม้อ เป็นไก่เทาอันดับสี่รองจากเทาสวาด ลักษณะเด่นประจำพันธุ์เทาหม้อ ขนพื้นตัว ขนปีก ขนหางพัด สีเทาแก่ หางกระรวยสีเทาปลายขาว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้าสีเทาแก่แบบสีมะขามไหม้ ขนปิดหูสีเดียวกับสร้อย ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลือง
  5. ไก่เทาขี้เถ้า เป็นไก่เทาอันดับห้ารองจากเทาหม้อ บางแห่งเรียกว่าเทาเงินยวง ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ขนพื้นตัว ขนปีก ขนหางพัดสีเทาอ่อนแบบสีขี้เถ้าฟืน สีไก่แจ้ดอกหมากหรือสีนกพิราบ หางกระรวยโคนขนสีเทาปลายขนขาวค่อนข้างมาก ขนปิดหูสีเทาอ่อน ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลือง ตาสีขาวขุนแบบควันไฟ
  6. ไก่เทาดำ เป็นไก่เทาอันดับหกรองจากไก่เทาขี้เถ้า ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ขนพื้นตัวสีเทาแก่ ขนปีก ขนหางพัดสีเทาแก่ ขนหางกระรวยสีเทาแซมขาวเล็กน้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูสีดำ บางคนเรียกเทาขี้ควาย ปากแข้ง เล็บ เดือยและตาสีดำคล้ำ
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ไก่เทาหางขาวเพศเมีย
ไก่เทาเพศเมีย มีรูปร่างเพรียวบางสูงระหง คอคางรัด หน้าแหลมกลมกลึงแบบหน้านก ลำตัวยาวกลมจับยาวสองท่อน ขนพื้นตัวและขนหลังเส้นเล็กละเอียดเรียงกันเป็นระเบียบ กระเบนหางรัด สีขนพื้นตัว ขนหลัง ขนปีก ขนหางและขนคอ เป็นสีเทาเหมือนกันทั้งตัว สีจะแก่-อ่อนต่างกันตามสายพันธุ์เหมือนขนพื้นตัวของตัวผู้ ส่วนที่แตกต่างกันเห็นได้ชัด คือ ขนสร้อยคอจะมีขลิบสีไปตามสายพันธุ์เหมือนขนสร้อยคอตัวผู้ เช่น เทาทองคำจะมีขนขลิบเหลือง เทาทองแดงจะมีขนขลิบสีแดง เทาสวาดหรือเทาเรือรบจะมีขลิบสีเทา เทาหม้อหรือเทาประดุ่จะมีขนขลิบสีประดู่ เทาขี้ถ้าหรือเทาเงินยวงหรือเทานกพิราบจะมีขนขลิบสีขาว เทาขี้ควายหรือเทาดำสีตาจะเหมือนตัวผู้ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลืองและแดงเหมือนตัวผู้เช่นกัน

สายพันธุ์ ไก่ชน พันธุ์นกกรดหางดำ

ไก่ชนพันธุ์นกกรดหางดำ

ไก่ชนพันธุ์นกกรดหางดำ ไก่ชนพันธุ์นกกรดหางดำ ไก่นกกรด เป็นไก่สวยงามอีกพันธุ์หนึ่ง ท่าทางยืนเด่นสง่าผ่าเผย ชนเชิงดี มักมีแข้งเปล่า เป็นไก่ชนดุดันไม่กลัวใคร ไก่นกกรดเป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณครั้งอยุธยา โด่งดังเมื่อครั้งฉลองกรุงหงสาวดีจัดให้มีการชนไก่หน้าพระที่นั่งบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรยังทรงพำนักอยู่พม่า โปรดให้พระน้องยาเธอสมเด็จพระเอกาทศรถนำไก่กรดไปชนหน้าพระที่นั่ง ได้ชนะไก่พม่า และได้อยู่เป็นพ่อพันธุ์สืบทอดในประเทศพม่าจนถึงปัจจุบัน
แหล่งกำเนิด ไก่นกกรดมีแหล่งกำเนิดอยู่ทั่ว ๆ ไป ไก่เก่ง ไก่ดัง จะอยู่ทั่ว ๆ ไป ไก่เก่งไก่ดังจะอยู่แถวๆ นครสวรรค์ ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี พิจิตร สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ เป็นต้น ประเภท ไก่นกกรดเป็นไก่ขนาดกลาง ตัวผู้น้ำหนักโดยเฉลี่ย ประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม ตัวเมีย ประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม สีของเปลือกไข่และลูกเจี๊ยบ เปลือกไข่สีน้ำตาลแดง ลูกเจี๊ยบแดงลายลูกหมูป่า หรือลายกระถิก ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ขนหัวสีแดง
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ อาจารย์พนได้เป็นผู้ให้ข้อมูล ดังนี้
  • รูปร่างลักษณะ ไก่นกกรด เป็นไก่รูปทรงงดงามอีกพันธุ์หนึ่ง รูปร่างสูงโปร่ง ทรงหงส์ ไหล่กว้าง หลังยาว ปีกใหญ่ยาวอยู่เสมอ หางยาวเป็นพลูจีบหรือฟ่อนข้าว ปั้นขาใหญ่คอยาว
  • ปาก ปากใหญ่ ปลายงุ้มสีเหลืองอมแดงรับกับเล็บและเดือย
  • จมูก จมูกกว้าง ฝาปิดจมูกเรียบ รูจมูกกว้าง มีสีเดียวกับปาก
  • หงอน เป็นหงอนหิน 3 แฉก ผิวหงอนบางเรียบ หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ท้ายหงอนกอด
  • หู-ตุ้มหู ขนปิดหู สีแดงแบบสร้อย ตุ้มหูรัดรึงติดกับหน้าดูกระชับไม่หย่อนยาน
  • เหนียง เหนียงรัดรึงติดกับคาง ไม่หย่อนยาน สีแดงสดใสเหมือนหงอน
  • กะโหลก กะโหลกหัวยาว 2 ตอน มีรอยไขหัวชัดเจน
  • คอ คอยาวใหญ่ โค้งลอนเดียว แบบคอม้า กระปล้องคอชิดแน่น ขนสร้อยคอขึ้นเป็นระเบียบ
  • ปีก ปีกยาวใหญ่ ไม่โหว่ เป็นลอนเดียว สร้อยหัวปีกสีแดงเป็นมัน กลางปีกสีแดงแบบพื้นตัว สีขน ปลายปีกสีแดงอมน้ำตาลแบบสีปีกแมลงสาบ
  • ตะเกียบ ตะเกียบก้นแข็ง ชิดและขนานกัน
  • หาง ขั้วหางใหญ่ หางพัดดก เรียงเป็นระเบียบ สีดำ หางกะลวย ดกยาวสีแดง หางเป็นลักษณะฟ่อน ข้าวหรือพลูจีบ
  • แข้งขา แข้งเล็ก เรียวกลม สีเหลืองอมแดง สีรับกับปากและเดือย
  • เกล็ด เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบ สีเดียวกับปาก มักมีเกล็ดพิฆาตสีเดียวกับแข้ง
  • นิ้ว นิ้วยาวเรียวกลม ใต้นิ้วมีตัวปลิงชัดเจน เกล็ดนิ้วมักแตกเป็นเกล็ดพิฆาต สีเดียวกับแข้ง
  • เดือย เป็นเดือยงาช้างหรือเดือยลูกปืนสีเดียวกับแข้งและปาก
  • ขน ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้าสีแดงอมน้ำตาลเข้ม แบบสีแมลงสาบ
  • กิริยาท่าทาง ไก่นกกรดเป็นไก่สวยงามอีกพันธุ์หนึ่ง ท่าทางยืนเด่น สง่าผ่าเผย ชนเชิงดี มักมีแข้ง เปล่าเป็นไก่ชนดุดัน ไม่กลัวใคร
ไก่นกกรด แบ่งตามเฉดสีได้ 4 ชนิด คือ
  1. นกกรดแดง ขนพื้นตัวสีดำ ขนหางพัด หางกะลวยสีดำ ขนปีกสีแดง ปลายปีกสีน้ำตาลเข้มแบบสีแมลงสาบ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหู สีน้ำตาลอมแดง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ตาสีแดง ตัวนี้เป็นตัวนิยม
  2. นกกรดดำ ขนพื้นตัวสีดำ ขนหางพัด หางกะลวย ขนปีกสีแดง ปลายปีกสีน้ำตาลเข้มแบบสีแมลงสาบ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูเป็นสีน้ำตาลอมดำ คล้าย ๆ สีประดู่ แสมดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ตาสีแดงเข้มอมดำ
  3. นกกรดเหลือง ขนพื้นตัวสีดำ ปลายปีกสีแมลงสาบเช่นเดียวกับตัวอื่น ๆ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูสีเหลืองอมดำปนน้ำตาล ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง
  4. นกกรดกะปูด หรือบางคนเรียก กรดนาก กรดลาย ตอนเล็กจะมีลายดำอยู่ที่ปีก ขนพื้นตัวสีดำ ขนพัดขนกะลวยสีดำ ขนปีกสีเหมือนแมลงสาบ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปีกหู สีแดงดำอมน้ำตาล แบบสีตัวนากหรือนกกะปูด
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ไก่นกกรดเพศเมีย
ขนพื้นตัวสีน้ำตาลแบบสีกาบอ้อย ขนสันหรือสร้อยคอสีน้ำตาล ขนปีก ขนหลัง สีน้ำตาล ขนปลายปีกจะมีสีน้ำตาลเข้มแบบสีแมลงสาบ ขนหางพัดสีดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ขนปิดหูสีน้ำตาล ตาสีเหลืองอมแดง จะเป็นกรดเฉดสีอะไรให้สังเกตดูที่สร้อยคอ จะเป็นขลิบสีเหมือนขนสร้อยตัวผู้

สายพันธุ์ ไก่ชน พันธุ์ลายหางขาว

ไก่ชนพันธุ์ลายหางขาว

ไก่ชน พันธุ์ ลายหางขาว ไก่ชนพันธุ์ลายหางขาว
แหล่งกำเนิด เป็นไก่ในเขตภาคเหนือแถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ในภาคอีสาน ขอนแก่น มหาสารคาม ในภาคกลางและภาคใต้จะพบอยู่ทั่วไป เช่น เพชรบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ประเภท ไก่ลายหางขาวเป็นสายพันธุ์ไก่ชน ตัวผู้หนัก 3.0 - 4.0 กก. ตัวเมียหนัก 2.5 - 3.0 กก.
สีของเปลือกไข่ ไข่จะสีขาวอมน้ำตาล ที่เรียกว่าสีไข่ไก่ ลูกเจี๊ยบสีดำมอๆ หน้าอกขาว หัวจะมีจุดขาว ตา ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลือง
ประวัติความเป็นมา ไก่ลายหางขาวเป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณครั้งสมัยสุโขทัย จัดเป็นไก่เก่งทางภาคเหนือที่เราเรียก กันว่า "ไก่เบี้ย หรือ ไก่ข่อย" ทราบว่าในสมัยสุโขทัยพ่อขุนเม็งราย พระสหายพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงโปรดไก่เบี้ย ไก่ข่อย หรือไก่ลายหางขาวมาก เคยชนกับไก่ประดู่แสมดำหางดำของพ่อขุนรามคำแหง ไก่ลายปัจจุบันมีอยู่ทั่วๆไป สีคล้ายๆกับไก่บาร์พลีมัทร็อคของฝรั่ง เป็นไก่พันธุ์เนื้อและพันธุ์ไข่ แต่ของไทยเป็นพันธุ์ไก่ชน
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์
  • รูปร่างลักษณะ ไก่พันธุ์ลายหางขาว เพศผู้ ขนพื้นตัวลายตลอดขนปีก ขนหางพัดลายเหมือนขนพื้นตัว ขนหางกะลวยสีขาว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีลาย ตา ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลืองหรือขาวงาช้าง
  • ใบหน้า กลึงกลมแบบหน้านกเหยี่ยว เหนียงคางรัด
  • ปาก ปากใหญ่ ปลายปากงุ้มสีขาวอมเหลือง ปากมีร่องน้ำลึกทั้ง 2 ข้าง
  • จมูก แบนราบสีเดียวกับปาก รู้จมูกกว้าง สันจมูกเรียบ
  • ตา ขอบตาเป็นรูปวงรี แบบตาวัว ขอบตา 2 ชั้น ลูกตากลางดำ ตารอบนอกสีเหลือง เส้นเลือดสีแดงชัดเจน
  • หงอน หงอนเล็กเป็นหงอนหิน หน้าหงอนบางกลางหงอนสูง ท้ายหงอนกอดกระหม่อม หงอนสีแดงสด พื้นหงอนเรียบ
  • ตุ้มหู ขนปิดรูหูมีลายเหมือนสร้อย
  • เหนียง เหนียงเล็กรัดติดกับคาง สีแดงเหมือนหงอน
  • กะโหลก กะโหลกยาวกลมเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเล็ก ตอนหลังใหญ่กว่า
  • คอ คอยาวใหญ่โค้งแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดร่องคอ ขนสร้อยคอขึ้นดกเป็นระเบียบ
  • ปีก ปีกลาย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังลาย
  • ตะเกียบ ตะเกียบก้นแข้ง หนาและตรงชิด
  • หาง หางยาวดก เรียงเป็นระเบียบ หางพัดลายเหมือนพื้นตัว หางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปลายลาย
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ห่างจากกัน ข้อขามั่นคง ขนปั้นขาลาย เป็นแข้งรูปลำเทียนหรือลำหวาย สีเดียวกับปาก
  • เกล็ด เกล็ดนิ้ว เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบ สีเดียวกับปาก
  • นิ้ว เรียวยาว เป็นลำเทียน ข้อนิ้วมีท้องปลิงหนา
  • เดือย เดือยตรงแกนใหญ่ ปลายโค้งงอนไปตามก้อย แข็งแรงมั่นคง สีเดียวกับปาก
  • ขน ขนพื้นตัวลาย ขนปีก หางพัดลาย ขนกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายลาย
  • เล็บ มั่นคง สีเดียวกับเกล็ด แข้งและปาก
  • สร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีลายแตกต่างกันไปตามเฉดสี
  • กระปุกน้ำมัน เป็นกระปุกใหญ่ ปลายเดี่ยว
ไก่ลายหางขาว มี 7 เฉดสี
  1. ลายลูกข่อย ขนสร้อยลายขาวสลับเหลืองแบบสีลูกข่อยสุก
  2. ลายลูกหวาย ขนสร้อยลายสีน้ำตาลแบบลูกหวายสุก
  3. ลายดอกอ้อ ขนสร้อยสีลาย สีเทาอ่อนแบบดอกอ้อ ดอกพง
  4. ลายข้าวตอก ขนสร้อยลายสีขาวแบบหอยเบี้ย
  5. ลายนกกระทา ขนสร้อยลายสีน้ำตาลแบบสีนกกระทา
  6. ลายกาเหว่า ขนสร้อยลายสีน้ำตาลแก่สลับดำ
  7. ลายเบี้ย ไก่ลายเบี้ยออกขาวปนเทา
ทั้ง 7 เฉดสีนี้ถือว่าเป็นไก่ลายหางขาวทั้งหมด ตัวที่นิยมคือ คือ ตัวลายเหลือง ลายขาว ลายน้ำตาล เรียกว่า สีลายข่อย ลายเบี้ย ลายกาเหว่า นั่นเอง

สายพันธุ์ ไก่ชน พันธุ์นกแดงหางแดง

ไก่ชนพันธุ์นกแดงหางแดง

ไก่ชนพันธุ์นกแดงหางแดง ไก่ชนพันธุ์นกแดงหางแดงสายพันธุ์ไก่นกแดงหางแดง เป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ มีอยู่ทั่ว ๆ ไป แถบภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ไก่นกแดงที่มีชื่อโด่งดังครั้งสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นไก่ของขุนฤทธิ์ปูพ่าย หรือพระยาศรีไสณรงค์ เจ้าเมืองกาญจนบุรี ทหารเอกแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นเพื่อนสนิทของขุนเดชพระเวทย์แสนศึกสู้ หรือพระยาไชยบูลย์ผู้นิยมไก่เขียวหางดำ และไก่นกแดงเช่นกัน อาจารย์พนได้เป็นผู้ให้ข้อมูล ดังนี้
  • รูปร่างลักษณะ ไก่พันธุ์นกแดง มีรูปร่างลักษณะเป็นไก่ทรงปลีกล้วย ลำตัวกลม ไหล่หน้าใหญ่ หางทรงฟ่อนข้าวหรือทรงหางม้า
  • ใบหน้า ใบหน้ากลมกลืนแบบหน้านกกา
  • ปาก ปากใหญ่โคนปากมั่นคง มีร่องน้ำ 2 ข้าง สีปากเหลืองอมแดงรับกับสีแข้ง เล็บ เดือย
  • จมูก จมูกสีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง สันจมูกเรียบ แคมหรือฝาจมูกสีเหลืองอมแดง
  • ตา ขอบตามี 2 ชั้น แบบตาวัว ขอบตาแจ่มใสสีแดง มีเส้นเลือดในดวงตาใหญ่ชัดเจน
  • หงอน เป็นหงอนหิน 3 แฉก โค้งกลางกระหม่อม
  • หู-ตุ้มหู ตุ้มหูรัดไม่หย่อนยาน ขนปิดหูสีแดง สีเดียวกับสร้อยคอ
  • กะโหลก กะโหลกหัวยาว 2 ตอน มีรอยในหัวชัดเจน
  • คอ เป็นรูปคอม้า ปล้องคอชิดแน่น ขนสร้อยคอสีแดงสีเดียวรับกับสร้อยหลังและสร้อยปีก
  • ปีก ปีกใหญ่ยาวเป็นลอยเดียว ไม่ห่างโหว่ ขนปีกสีแดงด้าน ขนสร้อยปีกสีแดงสดสีเดียวกับสร้อยคอ สร้อยหลัง
  • หาง หางพัดสีแดง หางกะลวยสีแดง ก้านหางสีแดง หางเป็นรูปหางม้า กระปุกน้ำมันเดียว
  • แข้ง ขา ปั้นขาใหญ่ล่ำสัน แข้งเรียวกลมแบบลำเทียน ขนปั้นขาสีแดง แข้งสีเหลืองอมแดง รับกับสีปาก
  • เกล็ด เกล็ดแข้ง เกล็ดนิ้วสีเหลืองอมแดง เป็นเกล็ดปัดตลอด มีเกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บเห็บใน ไชบาดาลและอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
  • นิ้ว นิ้วเรียวยาวเป็นลำเทียน เกล็ดนิ้วมักแตกมีเกล็ดพิฆาต สีเกล็ดเหลืองอมแดงรับกับแข้ง นิ้วเล็ก นิ้วสีเดียวกับแข้ง
  • เดือย เป็นเดือยงาช้าง สีเหลืองอมแดงรับกับปากและแข้ง
  • ขน ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าท้อง ใต้ปีกสีแดงตลอด ขนพัด ขนกะลวยสีแดง ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังก้านขนสีแดง เรียกว่าแดงหมดทั้งตัว
  • กิริยาท่าทาง ไก่นกแดงเป็นไก่สกุลเดียวกับไก่ทองแดง ไก่นกกรด มองไกล ๆ ดูคล้าย ๆ กัน เป็นไก่ สกุลสูงอีกชนิดหนึ่ง ท่าทางสง่างามมีชั้นเชิงหลายกระบวนท่า
ไก่นกแดงหางแดงพันธุ์แท้แต่โบราณมีอยู่ 4 สายพันธุ์
  1. แดงชาด เป็นสีแดงเข้มหรือแดงแก่ดั่งสีชาด ขนพื้นตัวตั้งแต่หน้าคอ หน้าอก ท้อง ใต้ปีก ใต้ก้นเป็นสีแดงเข้ม ขนปีก จนหางพัด หางกะลวย สีแดงเข้มเหมือนสีพื้นตัว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง และขนปิดหูเป็นสีแดงเข้มสดใสเป็นมัน ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ตาสีแดง
  2. แดงทับทิม เป็นสีแดงสดใส สีอ่อนกว่าสีแดงชาด คล้ายทองแดงใหญ่ ขนพื้นตัวตั้งแต่หน้าคอถึงใต้ท้อง ใต้ปีก ใต้ก้นเป็นสีแดง ขนปีก ขนหางพัด หางกะลวย สีแดงแบบขนพื้นตัว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูสีแดงเพลิง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ตาสีแดง
  3. แดงเพลิง หรือบางแห่งเรียกแดงตะวัน เป็นสีแดงอ่อนกว่าแดงทับทิมออกไปทางสีแสด หรือแดงอมเหลือง ขนพื้นตัวตั้งแต่หน้าคอถึงใต้ก้นเป็นสีแดง ขนปีก ขนหางพัด หางกะลวย สีแดงแบบขนพื้นตัว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูสีแดงเพลิง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ตาสีแดง
  4. แดงนาก เป็นสีแดงคล้ำ ๆ แบบสีตัวนาก ขนพื้นตัวตั้งแต่หน้าคอ หน้าอก ถึงใต้ก้นเป็นสีแดงนาก ขนปีก ขนหางพัด หางกะลวยสีแดง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูเป็นสีแดงออกมัน ตาสีแดง (ไก่นกแดงที่พบในปัจจุบัน มักจะกลายพันธุ์เป็นพวกแดงหางขาวก้านหางไม่แดง ตาไม่แดง)
ลักษณะประจำพันธุ์ไก่นกแดงหางแดงเพศเมีย
ทรงปลีกล้วย ไหล่หน้าใหญ่ท้ายเรียว จับกลมยาว 2 ท่อน หน้าแหลมกลมแบบนกกา ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก ใต้ท้อง ใต้ปีก สีแดง ขนหาง หางพัด หางกะลวย สีแดง ก้านหางแดง ขนหลัง ขนสันหลัง สีแดงเข้มกว่าขนพื้นตัวเล็กน้อย ขนคอเหนือขนหลัง แต่ปลายสร้อยขนจะมีขลิบ สีแดงเป็นมันตามเฉดสีตัวผู้ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง ตา สีแดงเหมือนตัวผู้

สายพันธุ์ ไก่ชน เขียวหางดำหรือเขียวกา

ไก่ชนพันธุ์เขียวหางดำหรือเขียวกา

ไก่ชน พันธุ์เขียวหางดำ หรือ เขียวกา เขียวหางดำ หรือ เขียวกา บางแห่งเรียกว่า "เขียวพาลี หรือเขียวไข่กา" เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากทางภาคใต้และตะวันออก มีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้
  • ลักษณะทั่วไปคล้ายๆ กับประดู่หางดำ ปากดำ
  • หงอนหิน หน้าหงอนบางกลางหงอนสูง ท้ายหงอนจะตกกดกระหม่อม
  • สร้อยปีก สร้อยคอ สร้อยคอหลังและสร้อยหางสีเขียวคล้ายปีกแมลงภู่
  • ขนปีกและลำตัวเขียวหรือเขียวอมดำ หางสีดำ
  • แข้งดำ เล็บดำ

สายพันธุ์ ไก่ชน ประดู่หางดำ

ประดู่หางดำ

ไก่ชน พันธุ์ ประดู่หางดำ ไก่ชนพันธุ์ประดู่หางดำ มีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้
  • ปาก เป็นสายพันธุ์ไก่ชนที่มีปากสีดำ อูมใหญ่ โดยปากจะคล้ายปากนกแก้ว ปากบนมีร่องน้ำทั้งสองข้าง ระหว่างร่องน้ำจะเป็นสันราง
  • ตา ตาสีประดู่ หรือแดงอมม่วง หรือตาออกสีดำ หรือสีแดง
  • หงอน หงอนหินไม่มีจักเลย
  • สร้อยคอ สร้อยคอสีประดู่ยาวประบ่า ปีกใหญ่ยาว สร้อยปีกสีเดียวกับสร้อยคอ สร้อยหลังสีประดู่ยาวระย้าประก้น
  • ขน ขนลำตัวขนปีกและหางสีดำ กะลวยหางดำ โคนขาใหญ่
  • หน้าอก หน้าอกกว้าง และยาวเนื้อเต็มแน่น
  • ขาแข้ง เล็บและเดือย สีดำ
  • เพศเมียสีเดียวกับเพศผู้แต่ไม่มีสร้อย
ไก่ประดู่หางดำ ที่สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง รับรองพันธุ์มี 4 ชนิด คือ
  1. ประดู่มะขาม ถ้าสีแก่เรียกมะขามไหม้ ลักษณะขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหาง สีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีประดู่แบบเม็ดมะขามแก่ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาลไหม้(แก่) ตาสีไพล ขนปิดหูสีประดู่
  2. ประดู่แสมดำมะขามไหม้ ลักษณะเหมือนประดู่มะขามทุกอย่าง ยกเว้น ปาก แข้ง เล็บ เดือย และตาสีดำ
  3. ประดู่แข้งเขียวตาลาย ลักษณะเหมือนประดู่มะขาม ต่างกันตรงปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเขียวอมดำ ตาลายดำ
  4. ประดู่แดง ลักษณะเหมือนประดู่อื่นทั่วๆไป ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีออกแดง(น้ำตาลแดง) ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีน้ำตาล ตาสีแดง
มีไก่ประดู่หางดำอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะประจำพันธุ์ไม่แน่นอน พื้นตัวสีดำ ขนหาง ขนปีกสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีประดู่เหมือนทั้ง 4 ตัวดังกล่าว แต่ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีไม่แน่นอน มีสีดำ สีเขียว สีน้ำตาล ปะปนกันอยู่ และตาก็สีไม่แน่นอน มีสีดำ สีสวย สีไพล สีแดงปะปนกันอยู่ ไก่พวกนี้ถือว่าผสมข้ามพันธุ์มาจากประดู่ทั้ง 4 ชนิด ลูกออกมาจึงผิดเพี้ยนไปจากพันธุ์เดิม ในวงการประกวด ไก่ประดู่หางดำทั่วๆไป ก็อนุโลมอยู่ในพวกไก่ประดู่หางดำแต่เลือดไม่ใช่เฉพาะพันธุ์ การตัดสินการประกวดไก่ประดู่หางดำ ต้องใช้อุดมทัศนีย์ไก่ประดู่หางดำมาพิจารณาทั้ง 4 ตัว และอนุโลมตัวที่ 5 เข้าไปด้วย เป็นไก่ประดู่หางดำทั้งหมดทุกตัวเสมอภาคกัน ส่วนใครจะเหนือ ใครชนะใคร อยู่ที่ความสวยงามทั้ง 5 ของไก่ คือ
  1. หน้าตา
  2. สีสัน
  3. รูปร่าง
  4. เกล็ดแข้ง
  5. กิริยาชั้นเชิง

สายพันธุ์ ไก่ชน ประดู่เลาหางขาว

ประดู่เลาหางขาว

ไก่ชน ประดู่เลาหางขาว ไก่ชนพันธุ์ประดู่เลาหางขาว แหล่งกำเนิด เชื่อว่ามาจากพระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี กำแพงเพชร มีนบุรี หนองจอก สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ประเภท เป็นไก่ชนไทยขนาดกลาง ตัวผู้หนัก 3.00 - 4.00 กก. ตัวเมียหนัก 2.50 - 3.00 กก. สีของเปลือกไข่ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน สีของลูกเจี๊ยบ ขนหัว ขนคอขาว ขนหางดำ ปีกในสีดำ ปีกนอกสีขาว หน้าคอ หน้าท้องสีขาว ประวัติความเป็นมา ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร พัฒนามาจากไก่สายพันธุ์ใด ในประวัติศาสตร์ หรือการบันทึกยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญท่านใดในประวัติศาสตร์
รูปร่างลักษณะของประดู่เลาหางขาว
  • รูปร่าง แบบทรงหงส์ ลำตัวยาว ไหล่ยก หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าว เดินยืดท่าทางสง่างาม แข้งกลมแบบลำหวาย หน้ากลมยาวแบบหน้านก
  • ใบหน้า กลึงกลมแบบหน้านกเหยี่ยว เหนียงคางรัด
  • ปาก ปากใหญ่ ปลายปากงุ้มสีน้ำตาลอมเหลืองเล็กน้อย ปากมีร่องน้ำลึกทั้ง 2 ข้าง สีน้ำตาลอ่อน
  • จมูก จมูกแบนราบสีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง สันจมูกเรียบ สีเดียวกับปาก
  • ตา ขอบตาเป็นรูปวงรีแบบตาวัว ขอบตา 2 ชั้น นัยน์ตาดำ ตารอบนอกสีเหลืองแก่แบบสีไพล เส้นเลือดสีแดงชัดเจน
  • หงอน หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ท้ายหงอนกอดกระหม่อม หงอนสีแดงสด พื้นหงอนเรียบ
  • ตุ้มหู ตุ้มหูสีแดงเหมือนหงอน ขนปิดรูหูสีประดู่เลา เหมือนขนสร้อย
  • เหนียง เหนียงเล็กสีแดงเหมือนหงอน รัดติดกับคาง
  • กะโหลก กะโหลกยาวกลมเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเล็ก ตอนหลังใหญ่กว่า
  • คอ คอยาวใหญ่โค้งแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดร่องคอ ขนสร้อยคอขึ้นดกเป็นระเบียบสีประดู่เลา
  • ปีก ปีกยาวใหญ่จรดก้น ขนปีกท่อนในขาวปนดำ ปีกท่อนนอกไชปีกขาว ปีกท่อนในไชปีกขาวปนดำ ปีกแน่นไม่เป็นร่องโหว่
  • ตะเกียบ ตะเกียบแข้งตรง ท้องแฟบรับกับตะเกียบ
  • หาง หางยาวดกเป็นระเบียบ สีขาวปนดำ หางพัดดำปลายขาว หางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปนดำ หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าว ก้านหางสีเดียวกับขน
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ ห่างจากกัน ข้อขามั่นคง ขนปั้นขาสีดำ เป็นแข้งรูปลำเทียน ลำหวาย เกล็ดแข้ง 2 แถวเป็นระเบียบ นิ้วเรียวยาว แข้งสีเดียวกับปาก
  • เกล็ด เกล็ดนิ้ว เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบสีเดียวกับปาก
  • นิ้ว นิ้วยาวเป็นลำเทียน ข้อนิ้วมีท้องปลิงหนา
  • เดือย เดือยเป็นเดือยแบบลูกปืน หรือแบบงาช้าง แข็งแรงมั่นคง
  • ขน ขนพื้นตัวสีดำ ขนกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ
  • สร้อยปีก และสร้อยหลัง สีประดู่เลา คือโคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีประดู่
  • เล็บ มั่นคงแข็งแรง สีเดียวกับเกล็ดแข้งและปาก
  • สร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีประดู่เลา คือ ขนสร้อยท่อนล่างสีขาว ท่อนปลายสีประดู่
  • กระปุกน้ำมัน เป็นกระปุกใหญ่ ปลายเดียว
ประดู่เลามี 4 เฉดสี คือ
  1. ประดู่เลาใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อว่าเลาใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางเป็นสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ที่หัว-หัวปีก-ข้อขา มีกระขาว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยระย้า โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีเม็ดมะขามแก่ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล
  2. ประดู่เลาเล็ก ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้า โคนขนสีขาว ปลายขนสีเม็ดมะขามแก่ ไม่มีหย่อมกระ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล
  3. ประดู่เลาแดง ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้า โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีประดู่แดง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพลหรือส้ม
  4. ประดู่เลาดำ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีคล้ำเข้มแบบเขียวประดู่

สายพันธุ์ ไก่ชน เหลืองหางขาว

เหลืองหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช
ความเป็นมา
ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช จึงชนชนะ จนได้รับสมญาว่า "เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง" ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้ศึกษาค้นคว้า และทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดประกวดครั้งแรกขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2533 และในปี 2534 ได้จัดตั้ง ชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นที่ ตำบลหัวรออำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การ บริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกจนถึงปี 2542 ได้จัด ตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นทุกอำเภอ รวม 12 กลุ่มเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่ เป็นสมบัติคู่ชาติตลอดไป
แหล่งกำเนิด
ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช เป็น ไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาว และ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกจนถึงขณะนี้ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช นับว่าเป็นของดีของจังหวัดพิษณุโลก และ เป็นสมบัติของชาติไทย ที่กำลังได้รับความสนใจ กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์ และ พัฒนาสายพันธุ์ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน สำนักปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 ดังต่อไปนี้ สายพันธุ์ เหลืองหางขาว เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป(วัดจากใต้ ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) เพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป
ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว มีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้
  • สี ออกเหมือนดอกโสน ขาวอมแดง ขาวอมเหลือง
  • ปาก ปากใหญ่ขาว คือ ปากสีขาวอมเหลืองหรือสีงาช้าง ปากยาวอวบใหญ่คล้ายกับปากนกแก้ว มีร่องน้ำเห็นได้อย่างชัดเจน ตรงกลางนูนเป็นสันราง ตา ตาขาวจะมีเส้นสีแดงๆ เรียกว่าตาเพชร ตาเป็นลักษณะตาเหยี่ยว หัวตาแหลม ตาดำคว่ำ เล็กหรี่ รอบตาดำสีขาวอมเหลือง หาง ขนหางกระรวยมีสีขาว พุ่งออกยาวมองเห็นได้เด่นชัด ถ้ายิ่งขาวและยาวมากๆ จะดีมาก ขนหางควรพุ่งตรงและยาว ปลายหางโค้งตกลงเพียงเล็กน้อย ขาแข้งและเดือย มีสีขาวอมเหลือง เป็นสีเดียวกับปาก เกล็ดมีลักษณะแข็งและหนาแน่นเรียบ เดือยใหญ่แข็งแรง นิ้วยาว เล็บสีขาวอมเหลืองทุกเล็บ ไม่มีสีอื่นๆปนเลย
  • หงอน ด้านบนของหงอนจะบาง เรียบ ปลายหงอนยาวเลยตา โคนหงอนที่ติดกับหนังศรีษะหนาแน่น อาจมีลักษณะเป็นหงอนแจ้ หงอนหิน หงอนบายศรี
  • ตุ้มหู จะมีสีแดงสีเดียวกับหงอน ไม่มีสีขาวเลย ตุ้มหูมีขนาดเล็ก รัดรับกับใบหน้า ไม่หย่อนยาน
  • เหนียง เล็ก รัดติดกับคาง ไม่ยานหรือไม่มีเหนียง
  • รูปหน้า เล็ก แหลม ยาว มีเนื้อแน่น ผิวหน้าเรียบเป็นมัน กะโหลกศรีษะหนาและยาว
  • อก อกไก่จะแน่นกลม มีเนื้อเต็ม กระดูกอกหนา ยาว และตรง
    หลัง เป็นแผ่นกว้าง มีกล้ามเนื้อมาก มองดูแล้วเรียบตรง ไม่โค้งนูน
  • ไหล่ ตั้ง ยกตรง มีความกว้างพอสมควร
  • คอ ยาว ใหญ่ กระดูกข้อถี่
  • ปั้นขา จะใหญ่แข็งแรง มีเนื้อมาก กล้ามเนื้อแน่น
  • สร้อยคอ เหลือง หรือเหลืองแกมส้ม สร้อยคอยาวต่อกับสร้อยหลัง
  • สร้อยหลัง เป็นสีเดียวกับสร้อยคอ ควรเรียงกันเต็มแผ่นหลัง เริ่มตั้งแต่โคนคอจนถึงโคนหาง เส้นขนละเอียดยาวเป็นระย้า
  • สร้อยปีก สีเดียวกับสร้อยคอ เรียงกันแน่นเต็มบริเวณหัวปีกจนถึงปีกชัย มองดูเป็นแผ่น

ไก่เหลืองหางขาว ที่ประกาศรับรองพันธุ์

ไก่เหลืองหางขาว สมาคมฯ ได้กำหนดอุดมทัศนีย์ไว้ และประกาศรับรองพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด คือ
  1. เหลืองใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเหลืองแก่ดังสีทองแท่ง ขนปีกในสีดำ ขนปีกนอกสีขาว ขนหางพัดสีดำปลายขาว ขนหางกะลวยสีขาวปลายดำ คู่กลางขาวปลอด ปาก-แข้ง-เล็บ-เดือย สีขาวอมเหลือง แบบสีงาช้าง ตาสีตาปลาหมอตาย (ขาวอมเหลืองอ่อน) ขนปิดรูสีเหลืองแบบสร้อย มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
  2. ไก่เหลืองรวกพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองกลางดังสีทองทา หรือสีไม้รวกแก่แห้ง
  3. ไก่เหลืองโสนพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองอ่อนดังสีทองเปลว(ทองปิดพระ) หรือสีดอกโสน หรือดอกคูณ
  4. เหลืองเลาพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนเหลืองใหญ่ เหลืองรวก เหลืองโสนทุกประการ ต่างกันตรงสร้อคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โดยโคนสร้อยจะเป็นสีขาว ปลายสร้อยจะเป็นสีเหลือง ส่วนไก่เหลืองพระเจ้า 5 พระองค์ตัวอื่นๆ โคนสร้อยจะเป็นสีดำปลายเหลือง
  5. ไก่เหลืองทับทิม ลักษณะจะเหมือนเหลืองทั้ง 4 ที่กล่าวมา ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โคนสร้อย สีดำปลายสร้อยสีเหลืองมีจุดขาวอมเหลืองอยู่ปลายสร้อย เรียกว่า "ทับทิม หรือ ดาวเรือง" ไม่มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
  6. ไก่เหลืองเอกา หรือบางทีเรียกเหลืองธรรมดา ลักษณะเหมือนไก่เหลืองทั้ง 5 ต่างกันตรงที่ไม่มีหย่อมกระ พระเจ้า 5 พระองค์ ไม่มีจุดทับทิมหรือดาวเรืองในสร้อย สีสร้อยมีทั้งแก่ กลาง อ่อน
ในไก่เหลืองหางขาวทั้ง 6 ชนิดนี้ เราถือว่าเป็นไก่เหลืองหางขาวเหมือนกันหมด ไม่มีตัวใดเหนือตัวใด แต่ในกลุ่ม พระเจ้า 5 พระองค์จะเป็นที่นิยมในคนเลี้ยงมากกว่า ในการประกวดไก่เหลืองหางขาว ตามกฎ กติกา การประกวดและการตัดสิน ถือว่าไก่เหลืองหางขาวทุกตัวมี คุณค่าเท่าๆกัน จะแพ้ชนะกันอยู่ที่ความสวยงาม 5 ประการ คือ
  1. หน้าตา ตัวสวยงามหน้าจะแหลม กลมยาว หัว 2 ตอน ปากใหญ่ จมูกเรียบ หงอนหินกอดกระหม่อม เหนียงคางรัดเฟ้ด ขอบตา 2 ชั้นโค้งรี สีตาปลาหมดตาย จะเป็นไก่ฉลาด
  2. สีสัน ตัวสวยงาม สีขนพื้นตัว ขนปีกขนหางต้องถูกต้อง ขนสร้อยต้องเหลืองรับกันตลอดอย่างสม่ำเสมอ ขนแห้งสมบูรณ์มีน้ำขนจะเป็นไก่มีสกุล
  3. รูปร่าง ตัวสวยงาม ต้องรูประหง สูงใหญ่ จับกลมยาว 2 ท่อน ใหล่หน้าใหญ่บั้นท้ายโตแบน ปั้นขาใหญ่ คอยาวปล้องคอชิดแน่นวงเดียว หางยาว พัดคืบกะลวยศอก อุ้งหางชิด ปีกใหญ่แน่นยาวไม่แกว่ง จะเป็นไก่แข็งแรง
  4. แข้งขา-เกล็ด ตัวสวยงามต้องแข้งกลมเป็นลำเทียน ลำหวายหรือไม้คัด เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบ เป็นแถว เป็นแนว เป็นดอกเป็นดวง นิ้วยาวเรียวมีเกล็ดแตก เหน็บ แซม ที่นิ้วมาก เป็นเกล็ดพิฆาต เสือซ่อนเล็บ เหน็บใน ไชบาดาล ผลาญศัตรู งูจงอาอง กากบาท ดอกจัน จักรนารายณ์ ขุนแผนสะกดทัพ จะเป็นไก่ตีเจ็บ
  5. กิริยาชั้นเชิง ตัวสวยงาม ต้องยืน เดิน วิ่ง ท่าทางสง่าผ่าเผย เดินกำนิ้ว กระพือปีก เล่นสร้อย ส่งเสียงขัน ตลอดเวลา สัมผัสร่างจะมีเชิงนิยมจะเป็นไก่เหนือชั้นกว่าไก่อื่น ไก่ทุกตัวไม่ว่าเหลืองไหน ถ้ามีคุณสมบัติความงามครบ 5 ประการ หรือมีมากที่สุด ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เช่น คอดอก เห็บเสี้ยน เท้าหน่อ ขี้ขาว หวัด จะเป็นไก่ชนะได้รับรางวัล

วิธีการเลี้ยงไก่สำหรับชน

วิธีการเลี้ยง ไก่ชน การเลี้ยงไก่สำหรับชนนั้น มีหลายอย่างหลายชนิดแล้วแต่ครูบาอาจารย์ใดจะสั่งสอนมา แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด ระยะการปล้ำและทำตัวไก่หนุ่ม ไก่หนุ่มที่จะเริ่มเลี้ยงครั้งแรก ต้องลงขมิ้นให้ทั่วทั้งตัวเสียก่อน เพื่อสะดวกในการอาบน้ำ และป้องกันไรได้ดีอีกด้วย
  1. เริ่มอาบน้ำเวลาเช้าทุกวัน ควรใช้ผ้าประคบหน้าทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ ลงกระเบื้อง เนื้อตัวบาง ๆ แล้วลงขมิ้นตามเนื้อบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดด พอรู้ว่าหอบก็นำไก่เข้าร่ม อย่าให้กินน้ำจนกว่าจะหายหอบจึงจะให้กินน้ำได้ไก่ผอมไม่ควรผึ่งแดดให้มากเพราะจะทำให้ผอมมากไปอีก ถ้าอ้วนเกินไปต้องผึ่งแดดให้มากสักหน่อย เพราะจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรคุมน้ำหนักทุกครั้งที่มีการซ้อม และการเลี้ยงทุกวันตอนเช้า
  2. อาบน้ำประมาณ 7 วัน แล้วจึงเริ่มซ้อมครั้งแรกสัก 2 ยก ๆ ละไม่เกิน 12 นาที ซ้อมสัก 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ซ้อมยกละ 15 นาที รวมแล้วให้ได้ 6 ยก ระยะการปล้ำแต่ละครั้งควรจะมีเวลาห่างกันประมาณ 10 -15 วันพอครบกำหนดแล้วต้องถ่ายยาตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

วิธีล่อ

เวลาประมาณบ่าย 2 โมงเย็น เอาน้ำเช็ดตัวไก่ที่เลี้ยงเล็กน้อย แล้วเอาไก่ที่เป็นไก่ล่อ จะเป็นการล่อทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่สะดวก แล้วล่อไก่ให้ย้าย คือเอาไก่ล่อ ๆ วนไปข้างซ้าย 10 รอบ เย้ายวนไปทางขวา 10 รอบ ย้ายจนกว่าไก่ตัวถูกล่อจะไม่ล้มจึงจะใช้ได้ แล้วล่อให้ไก่บินบ้าง ล่อประมาณ 20 - 25 นาทีก็พอ พอเสร็จจากการล่อเอาขนไก่ปั้นคอ พอหายเหนื่อยแล้วอาบน้ำได้ เสร็จแล้วผึ่งแดดให้ขนแห้งแล้วกินอาหารได้

การใช้ขมิ้น

ทุกครั้งเวลาอาบน้ำไก่ในตอนเช้า ต้องใช้กระเบื้องอุ่น ๆ ประคบหน้าพอสมควร ถ้ามากนักจะทำให้หน้าเปื่อย แล้วทาขมิ้นบาง ๆ ทุกครั้ง บางคนใช้ทาเฉพาะหน้าอก ขา ใต้ปีก ตามเนื้อเท่านั้น (ใช้ได้เหมือนกัน)

การปล่อยไก่

ไก่ที่เลี้ยงไว้ชนพอเวลาแดดอ่อนๆควรได้ปล่อยไก่ให้เดินตามสนามหญ้าแพรกนอกจากจะให้ไก่ได้เดินขยายตัวแล้ว ไก่ยังมีโอกาสได้กินหญ้าไปในตัวด้วย วิธีแก้ไขให้น้ำหนักตัวลด เวลาไก่ชนที่เลี้ยงอ้วนเกินไปน้ำหนักตัวจะมากบินไม่ขึ้น ควรผึ่งแดดให้หอบนาน ๆ หากไก่ผอมมากไปไม่ควรให้ถูกแดดมากเกินไป เวลานอนควรให้นอนบนกาบกล้วย หรือเอาน้ำเย็นเช็ดตัวบาง ๆ ก่อนนอน การนอนควรนอนในมุ้งทุกคืนเพื่อมิให้ยุงไปรบกวน ไก่จะได้นอนหลับสบาย การเลี้ยงไก่ถ่าย การเลี้ยงไก่ถ่าย หรือไก่ที่เปลี่ยนขนตั้งแต่หนึ่งครั้งขึ้นไป วิธีเลี้ยงเช่นเดียวกับไก่หนุ่ม ผิดกันตรงที่ไก่ถ่ายต้องปล้ำให้ได้ที่ คือปล้ำครั้งละ 2 ยก ยกละ 15 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวม 10 ยก หรือปล้ำจนกว่าจะบินไม่ล้ม แล้วผึ่งแดดให้นานกว่าไก่หนุ่มหน่อย นอกนั้นเหมือนกันหมด

ยาถ่ายไก่

ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้
  1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
  2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
  3. ไพลประมาณ 5 แว่น
  4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
  5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
  6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน) ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง
ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน

น้ำสำหรับอาบไก่

ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้
  1. ไพลประมาณ 5 แว่น
  2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
  3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
  4. ใบมะกรูด 5 ใบ
  5. ใบมะนาว 5 ใบ
เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง

ยาบำรุงกำลังไก่

ยาบำรุงที่นิยมกันมากมีหลายขนาน แต่จะยกมาขนานเดียว คือ
  1. ปลาช่อนใหญ่ย่างไฟ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง 1 ตัว
  2. กระชายหัวแก่ ๆ ประมาณ 2 ขีด (แห้ง)
  3. กระเทียมแห้ง 1 ขีด
  4. พริกไทย 20 เม็ด
  5. บอระเพ็ดแห้ง 1 ขีด
  6. นกกระจอก 7 ตัว
  7. หัวแห้วหมู 1 ขีด
  8. ยาดำพอประมาณ
นกกระจอกนำไปย่างไฟแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปตำให้ป่น ปลาช่อนก็ตำให้ป่น แล้วนำทั้ง 8 อย่างมาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทราให้กินวันละ1 เม็ดก่อนนอนทุกวันจนกว่าไก่จะชน ยาบางตำราไม่เหมือนกันแต่ได้ผลดีทั้งนั้น แต่ไปแพ้กันตรงที่ไก่เก่งไม่เก่งเท่านั้น ไก่ที่นำไปชนทุกครั้งถ้าไม่ได้ชน กลับมาจะต้องฉะหน้าถอนแข้งทุกครั้ง ๆ ละ 5 นาที 1 ครั้ง ก่อนจะนำไปชนต่ออีก

วิธีให้น้ำไก่ขณะกำลังชน

วิธีให้น้ำ ไก่ชน การใช้น้ำไก่เป็นสิ่งจำเป็นในการชนไก่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าท่านให้น้ำไก่ไม่เป็น เอาไก่ไปชนโอกาสแพ้มีมาก มือน้ำเท่านั้นเป็นผู้ชี้ชะตาไก่ของท่าน เพราะฉะนั้นท่านต้องเป็นคนให้น้ำไก่เก่งๆ จึงจะสู้เขาได้ วิธีให้น้ำไก่ก่อนชน ท่านต้องใช้ผ้ามุ้งบาง ๆ ชุบน้ำเช็ดตัวให้ทั่วตัวทุกเส้นขน แต่อย่างให้ปีกเปียก (เพราะปีกเป็นอุปกรณ์สำคัญในการต่อสู้) แล้วเช็ดให้แห้ง ให้กินข้าวสุก จนอิ่มแล้วปล่อยให้เดินเพื่อจะได้ขยายตัว และแต่งตัวเรียบร้อยแล้วนำไก่เข้าชน พอหมดยกที่ 1 เอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าอก และใต้ปีกเสียก่อนจึงค่อยเช็ดตามตัวให้ทั่ว แล้วตรวจบาดแผลตามหัว ตามตัวว่ามีผิดปกติหรือเปล่า ตรวจดูตา ตรวจดูปากให้เรียบร้อย ถ้าปากฮ้อ ก็เตรียมผูก ถ้าตาหรี่ก็ควรเสนียดตา หรือถ่างตา เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กินข้าวสุกที่บดไว้ ประมาณ 3 - 4 ก้อน แตงกวาแช่น้ำมะพร้าวอ่อน พอให้อิ่มแล้วเอาไก่นอน ๆ ประมาณ 5 นาที หลังจากนอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอากระเบื้องอุ่นมาเช็ดตามตัว ตามหน้าแข้ง ขาให้ทั่วบริเวณที่ถูกตี แล้วปล่อยให้เดิน และให้ไก่ถ่ายออกมาเพื่อจะได้ให้ตัวเบา (ยกต่อไปก็ทำเหมือนยกที่ 1 จนกว่าจะแพ้ ชนะกัน)

วิธีรักษาพยาบาลหลังจากไก่ชนแล้ว

ตามปกติไก่ที่ชนมาแล้วจะมีบาดแผลมากน้อยแล้วแต่กำหนดเวลาการต่อสู้ บางตัวก็ชนะเร็ว บางตัวก็ชนะช้าบาดแผลก็มีมาก เวลาชนเสร็จแล้วควรใช้เพนนิซิลิน อย่างเป็นหลอดทาตามหน้าให้ทั่ว เพื่อไม่ให้หน้าตึง อย่าใช้ขมิ้นเป็นอันขาด ถ้าบาดแผลมากจริงควรใช้ยาพวกสเตปโตมัยซิน หรือฉีดยาเทอรามัยซิน หรือจะให้กินยาเต็ดตร้าไซคลินก็ได้ วันละ 1 เม็ด ตอนเย็น ประการสำคัญ อย่าให้ทับตัวเมียเป็นอันขาด หลังจาก 1 เดือนไปแล้วให้ทับได้