Monday, May 27, 2013

มาตราฐานพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวร

     มาตราฐานพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวร    
   

ความเป็นมา
    ไก่ชนพระนเรศวร เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในประเทศพม่า พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ที่มีลักษณะพิเศษ มีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ จึงชนชนะ จนได้รับฉายาว่า "เหลืองหางขาว ไกเจ้าเลี้ยง" ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกได้ศึกษาค้นคว้า และทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดประกวดครั้งแรกขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2533 และในปี 2534 ได้ จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรขึ้นที่ตำบลหัว อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จนถึงปี 2542 ได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธู์ไก่ชนพระนเรศวรขึ้นทุกอำเภอ รวม 12 กลุ่ม เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่เป็นสมบัติคู่ชาติต่อไป
    แหล่งกำเนิด
    ไก่ชนพระนเรศวร เป็นไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาวและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก จนถึงขณะนี้ ไก่ชนพระนเรศวร นับว่าเป็นของดีของจังหวัดพิษณุโลก และเป็นสมบัติของชาติไทย ที่กำลังได้รับความสนใจกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวร ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกจึงได้กำหนดมาตราฐานพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 ดังต่อไปนี้
    สายพันธุ์ : เหลืองหางขาว
    ขนาด : เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป (วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) และเพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป
    ลักษณะประจำพันธุ์
    เพศผู้หรือพ่อพันธุ์
    1. หัว : มีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง
    1.1 กระโหลก : กระโหลกอวบกลมยาว 2 ตอน ส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย
    1.2 หน้า : ลักษณะคล้ายหน้านกยูง มีสีแดงจัด
    1.3 ปาก : รูปร่างคล้ายปากนกแก้ว ลักษณะแข็งแรงมั่นคง มีสีขาวอมเหลือง โคนปากใหญ่ขอบ
    ปากและปลายปากคม ปากบนปิดปากล่างสนิท ปากบนมีร่องลึกตั้งแต่โคนตรงรูจมูกถึงกลางปาก
    1.4 หงอน : ลักษณะหน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ปลายหงอนกด กระหม่อมมีสีแดงจัด
    1.5 จมูก : รูจมูกกว้างและยาว ฝาปิดรูจมูกมีสีขาวอมเหลือง
    1.6 ตา : มีขนาดเล็ก ตาขาวมีสีขาวอมเหลือง (ตาปลาหมอตาย) มีเส้นเลือดแดงโดยรอบ หัวตา
    แหลมเป็นรูปตัววี (V) มีลักษณะเรียวและสดใส
    1.7 หู : หูทั้งสองข้างมีขน 3 สี คือ สีขาว สีเหลือง และสีดำ ขนหูมีมากปิดรูหูสนิท ไม่มีขี้หู
    1.8 ตุ้มหู : ตุ้มหูเป็นเนื้อสีแดงจัดเหมือนสีของหน้า ขนาดไม่ใหญ่และไม่ยาน
    1.9 เหนียง : ต้องไม่มี (ลักษณะคางรัดเฟ็ด)
    1.10 คิ้ว : โหนกคิ้วนูนเป็นสันโค้งบังเบ้าตา
    2. คอ : คอยาว (2 วง) และใหญ่ กระดูกข้อถี่
    3 . ลำตัว : ลำตัวกลมยาว (ทรงหงส์) จับได้ 2 ท่อน
    3.1 ไหล่ : กระดูกซอกคอใหญ่ ไหล่กว้าง
    3.2 อก : อกกว้างใหญ่ กล้ามเนื้อเต็ม กระดูกหน้าอกแข็งแรง โค้งเป็นท้องเรือและยาว (ไม่คดงอ)
    3.3 กระปุกหาง : มีขนาดใหญ่ชิดกับบั้นท้าย
    3.4 ต่อมน้ำมัน : มีขนาดใหญ่ 1 ต่อม อยู่บนกระปุกหาง
    3.5 ตะเกียบตูด : เป็นกระดูก 2 ชิ้น ออกจากกระดูกซี่โครงคู่สุดท้ายยาวมาถึงก้น แข็งแรง หนา
    โค้งเข้าหากัน และอยู่ชิดกัน
    4. ปีก : เมื่อปีกกางออก จะเห็นกล้าามเนื้อปีกใหญ่หนาตลอดทั้งปีก เอ็นยึดกระดูกแข็งแรง ขนปีกขึ้นหนาแน่นชิด มีความยาวเรียงติดต่อกันจากหัวปีกถึงท้ายปีก และยาวถึงกระปุกหาง
    5. ขา : ขาได้สัดส่วนกับลำตัว
    5.1 ปั้นขา : กล้ามเนื้อโคนขาใหญ่ทั้งสองข้าง เวลายืนโคนขาอยู่ห่างกัน
    5.2 แข้ง : มีลีกษณะเรียวเล็กกลม สีขาวอมเหลือง
    5.3 เดือย : โคนมีขนาดใหญ่ ต่ำชิดนิ้วก้อย ส่วนปลายเรียว แหลมคม และงอนเล็กน้อย มีสีขาวอม
    เหลือง
    6. เท้า : มีความสมบูรณ์ คือ นิ้วครบ ไม่คดงอ
    6.1 นิ้ว : มีลักษณะยาว ปลายเรียว มีทองปลิงใต้ฝ่าเท้า นิ้วจะมีปุ่มตรงข้อลักษณะคล้ายเนื้อด้านนิ้ว
    ละ 3 ข้อ นิ้วกลาง มีเกล็ดตั้งแต่ 20 เกล็ดขึ้นไป ส่วน นิ้วก้อย จะสั้น
    6.2 อุ้งตีน : หนังอุ้งตีนบาง เวลายืนอุ้งตีนไม่ติดพื้น
    6.3 เล็บ : โคนเล็บใหญ่ หนา แข็งแรง ปลายแหลม มีสีเหมือนแข็ง คือ ขาวอมเหลือง
    7. ขน : ขนเป็นมัน เงางามระยับ
    7.1 ขนพื้น : มีสีดำตลอดลำตัว
    7.2 สร้อย : มีลักษณะ "สร้อยประบ่า ระย้าประก้น" คือ สร้อยคอขึ้นหนาแน่นยาวประบ่า สร้อย
    หลังยาวระย้าประถึงก้น มีลักษณะเส้นเล็กระเอียด ปลายแหลม ส่วนสร้อยปีกและสนับปีกมีสีเดียวกัน
    7.3 ขนปีก : ปีกนอก (ตั้งแต่หัวปีกถึงกลางปีก) มีไม่น้อยกว่า 11 เส้น ปีกใน (ตั้งแต่กลางปีกถึง
    ปลายปีก) มีสีดำไม่น้อยกว่า 12 เส้น ปีกไช (ปีกแซมปีกนอก) มีสีขาวไม่น้อยกว่า 2 เส้น เมื่อหุบปีกจะมอง
    เห็นสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีก 2-3 เส้น เมื่องกางปีกออกจะมองเห็นปีกนอกมีสีขาวเป็นจำนวน
    มาก
    8. หาง : ยาวเป็นพวงและพุ่มเหือนฟ่อนข้าว
    8.1 หางพัด : มีข้างละไม่น้อยกว่า 7 เส้น มีสีขาวเป็นจำนวนมาก
    8.2 หางกระรวย : คือ ขนหางคู่กลาง ซึ่งเป็นหางเอก จะมีสีขาวปลอดทั้งเส้น มีขนรองหาง
    กระรวยหรือหางรับไม่น้อยกว่า 6 เส้น และมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
    8.3 ระย้าหลัง : เป็นส่วนที่ต่อจากสร้อยหลัง มีลักษณะปลายแหลมปกคลุมกระปุกหาง ขอบขนมีสี
    เหลืองเหมือนสร้อยหลัง
    9. หลัง : หลังแผ่แบนขยายใหญ่
    10. กิริยาท่าทาง
    10.1 ท่ายืน : ยืนยืดอก หัวปีกยก ท่าผงาดดังราชสีห์
    10.2 ท่าเดินและวิ่ง : ท่าเดิน สง่าเหมือนท่ายืน เวลาเดินเมื่อยกเท้าขึ้นจะกำนิ้วทั้งหมด เมื่อย่างลง
    เกือบถึงพื้นดินจะแบนิ้วออกมาทั้งหมด เวลาวิ่ง จะวิ่งด้วยปลายนิ้ว และวิ่งย่อขาโผตัวไปข้างหน้าเสมอ
    10.3 ท่าขัน : ขันเสียงใหญ่ ยาว ชอบกระพือพีก และตีปีกแรงเสียงดัง
    11. ลักษณะพิเศษ
    11.1 พระเจ้าห้าพระองค์ : คือ มีหย่อมกระ (มีขนขาวแซม) 5 แห่ง ได้แก่ 1.หัว 2.หัวปีกทั้งสอง
    3.ข้อขาทั้งสอง
    11.2 เกล็ดสำคัญ : ได้แก่ เกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บชั้นใน ไชบาดาล เกล็ดผลาญศัตรู
    นอกจากนี้ยังมีเกล็ดกากบาท จักรนารายณ์ ฯลฯ
    11.3 สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก (สนับปีก) : เป็นสีเหลืองทอง เรียกว่า เหลืองประภัสสร
    11.4 สร้อยสังวาลย์ : เป็นสร้อยบริเวณด้านข้างลำตัว มีลักษณะและสีเดียวกับสร้อยคอ
    และสร้อยหลัง
    11.5 ก้านขนสร้อยและหางกระรวย : มีสีขาว
    11.6 บัวคว่ำ - บัวหงาย : บริเวณด้านใต้โคนหางเหนือทวารหนัก มีขนประสานกัน ลักษณะแหลม
    ไปที่โคนหาง ดูคล้ายบัวคว่ำ - บัวหงาย
    ลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
    1. ข้อบกพร่องร้ายแรง
    1.1 กระดูกอกคด
    1.2 นิ้วหรือเท้าบิดงอ
    1.3 ไม่มีเดือย
    1.4 แข้งไม่ขาวอมเหลืองตลอด (แข้งมีสีดำหรือแข้งลาย)
    2. ข้อบกพร่องไม่ร้ายแรง
    2.1 เท้าเป็นหน่อ
    2.2 ปากไม่ขาวอมเหลืองตลอด หรือมีจุดดำที่โคนปาก
    2.3 ในขณะที่หุบปีก ขนปีกมีสีขาวแลบออกมาทางด้านขวาง คล้ายนกพิราบ
    2.4 เดือยหัก หรือตัดเดือย
    2.5 สุขภาพไม่สมบูรณ์ (เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
    2.6 ลักษณะไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น
    เพศเมียหรือแม่พันธุ์
    1. หัว : มีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง ได้แก่ กระโหลก หน้า ปาก หงอน จมูก ตา หูและคิ้ว มีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
    2. คอ : คอยาวใหญ่ และกระดูกคอถี่
    3. ลำตัว : มีลำตัวยาวกลม (ทรงหงส์) ได้แก่ ไหล่ อก กระปุกหาง ต่อมน้ำมัน มีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ ส่วนปลายของตะเกียบตูดห่างกัน ทำให้ไข่ดกและฟองโต
    4. ปีก : ลักษณะทั่วไปคล้ายกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
    5. ขา : ได้สัดส่วนกับลำตัว ปั้นขาและแข้งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
    6. เท้า : มีความสมบูรณ์ ทั้งนิ้ว อุ้งตีน และเล็บ
    7. ขน : ขนเป็นมันเงางาม ขนพื้นมีสีดำตลอดลำตัว มีขนสีขาวกระ (สีขาวแซม) บริเวณหัว หัวปีกและข้อเท้า (ลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์) ขนปีกเมื่อหุบปีก มีสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีกไม่เกิน 2 - 3 เส้น เมื่อกางปีก จะมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
    8. หาง : มีหางพัดเป็นจำนวนมาก ชี้ตรงหรือตั้งขึ้นเล็กน้อย มีสีขาวแซม
    9. หลัง : เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
    10. กิริยาท่าทาง : การยืน การเดิน และการวิ่ง เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ แต่มีลักษณะความเป็นแม่พันธุ์หรือเพศเมีย
    11. ลักษณะพิเศษ : มีลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์ และเกล็ดที่สำคัญเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ หากมีเดือยจะดีมาก และมีสีขาวอมเหลืองด้วย
    ลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเพศเมียหรือแม่พันธุ์
    1. มีลักษณะเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ เช่น กระดูกอกคด เท้าเป็น
    หน่อ และนิ้วหรือเท้าบิดงอ
    2. ขนปีกและขนหาง มีจุดขาวมากเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
    3. สุขภาพไม่สมบูรณ์ (เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
    4. ลักษณะไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น

0 comments:

Post a Comment