หลักการผสมพันธุ์
มี 2 แบบอย่างกว้างๆ คือ
การผสมพันธุ์ระหว่าง พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ไม่เป็นญาติกัน
การผสมกันระหว่างญาติพี่น้องสายเลือดใกล้ชิดกัน หรือเรียกว่าการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติเราจะหลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิดค่อนข้างยาก เพราะเรามีจำนวนพ่อแม่พันธุ์จำกัด ในทางทฤษฎีก็ทำได้แต่อย่าให้เลือดชิดสูงเกิน 49% โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ไก่ให้ได้เลือดบริสุทธิ์หรือพันธุ์แม้ เราจะผสมพันธุ์ให้เลือดสูงถึง 49% ก็จะได้พันธุ์ใหม่ หรือพันธุ์ของเราเองซึ่งเป็นพันธุ์ไก่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะพันธุ์ ในทางปฏิบัติทั่วๆ ไป เราจะพยายามให้เปอร์เซ็นต์การผสมเลือดชิดอยู่ระหว่าง 15-25% อัตราการผสมเลือดชิดนี้ จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้นเราต้องวางแผนว่าในระยะเวลา 10 ปี ข้างหน้าเราจะให้ฝูงไก้ของเรามีเลือดชิดกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปคำนวณหาว่าเรา ควรจะมีพ่อ - แม่พันธุ์ในฝูงของเรากี่ตัว ซึ่งเกษตรกรส่วนมากไม่รู้ว่าฝูงไก่ของเราหรือในฟาร์มของเรา ควรจะเก็บพ่อ - แม่หรือไก่ทดแทนไว้กี่ตัว จึงจะทำการปรับปรุงพันธุ์ได้ ซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้
สูตร : อัตราการผสมเลือดชิดเพิ่มขึ้นต่อปี=100 x [(1/(8 x จำนวนพ่อพันธุ์)) + (1/(8 x จำนวนแม่พันธุ์))]%
การคัดเลือกพ่อพันธุ์
พ่อพันธุ์จะต้องมีอายุอยู่ในช่วง 1 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี น้ำหนักตัวตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องมาจากสายเลือดที่บริสุทธิ์ มีรูปร่างลักษณะดี องอาจขนปีกและขนหางขึ้นเป็นระเบียบ นิสัยดี ไม่จิกตัวเมียและลูกไก่เล็ก สีตรงตามสายพันธุ์ เชิงชนหรือลีลาดี ตีแม่นยำ ลำหักลำโค่นดี จิตใจดีเหมียวแน่น ชนชนะบ่อยครั้ง
การคัดเลือกแม่พันธุ์
หน้าแหลมกลมกลึงแบบหน้านก ตาเรียวไม่ลึก ขอบตาสองชั้น ตาสีตามสายพันธุ์ หงอนบางเรียบกอดกระหม่อม ปากแหลมคม มีร่องน้ำ เหง้าปากใหญ่ ปากสีเดียวกับแข้ง หูรัด เหนียงเล็ก ไม่หย่อนยาน มีสายเลือดดี สีตรงตามสายพันธุ์หรือสีเดียวตลอดทั้งตัว ไม่ควรมีสีด่างหรือสีเปรอะ ขนสร้อยคอมีขลิบตามพันธุ์ มีโครงร่างดี จับยาวสองท่อน คอดกลาง บานหัว บานท้าย กระดูกอกใหญ่และไม่คดงอ บั้นท้ายโตแบน หลังยาว ปั้นขาใหญ่ คอยาวโค้งแบบคอม้าหรือคองูเห่า กระดูกปล้องคอถี่และใหญ่ กระปุกน้ำมันเดียว ขั้วหางใหญ่ดกและยาว แข้งขากลม เล็ก นิ้วกลมยาว เกล็ดเรียงกันเป็นระเบียบ ท้องแข้งเต็ม มีปุ่มเดือย แข้งสีเดียวกัน ไม่ดำด่าง สีแข้งรับกับปาก สะบัดหัวเล่นสร้อยตลอดเวลา จิตใจดี มีน้ำอดน้ำทน มีประวัติการให้ลูกเก่ง มีเชิงชนและลีลาดี คล่องแคล่วว่องไว
การเตรียมรังสำหรับวางไข่
การเตรียมรังสำหรับวางไข่นี้ ถือเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่มีความเชื่อทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากแม่ไก่ธรรมชาติ บางท่านอาจถือว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่นักเลงไก่ในสมัยก่อนพยามปกปิดเป็นความลับมาเป็นเวลาช้านานไม่แพร่ให้บุคคลทั่วไปรับรู้ ซึ่งวิธีการทำรังไก่มีดังนี้
ต้องทำรังไก่ในตอนเช้าวันอังคารกับวันเสาร์ เพราะเป็นวันแข็ง
ห้ามให้สตรีเป็ผู้ทำรังไก่ไข่เป็นอันขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลูกไก่ที่เกิดมาอ่อนแอ
ให้หันหน้ารังไก่ไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
นำกระบุงที่ใช้สำหรับใส่ของมาทำรังไก่ ควรเป็นกระบุงที่ใช้ใส่ของขายแล้วขายดี ได้เงินมาก
นำหนาม 5 อย่างต่อไปนี้ มาใส่ถุงแล้ววางไว้ใต้รัง หนามแดง หนาพุงตอ หนามส้ม หนามหวาย
**และหนามไม้ร้อง เพื่อเป็นเคล็ดให้ไก่ตีแม่น
ควรใช้ใบยาสูบหรือตะไคร้ตากแห้งรองที่ก้นรังไก่ เพื่อป้องกันแม่และลูกไก่จากพวกเห็บ เหาและไร
หามูลฝอยและวัสดุมารองรังไก่ ประกอบด้วย
หัวงูเห่าตากแห้ง เชื่อว่าจะช่วยให้ไก่ชนตีคู่ต่อสู้แล้วทำให้ตาของคู่ต่อสู้มืดมิดมองไม่เห็น
ไม้คานที่หักคาบ่า เชื่อว่าจะทำให้ไก่ชนมีลำหักลำโค่นดี
เศษใบไม้ใบหญ้าของลมหมุน เชื่อว่าจะทำให้ไก่ชนตีคู่ต่อสู้แล้ววนหักเหมือนลมหมุน
ไม้ที่ถูกฟ้าผ่า เชื่อว่าจะทำให้ไก่ชนตีแรงจนทำให้คู่ต่อสู้ชักดิ้นชักงอ เหมือนโดนฟ้าผ่า
หญ้าแพรก เชื่อว่าจะทำให้ไก่ชนที่ถูกตี ฟื้นตัวง่ายเหมือนกับหญ้าแพรก
ไม้ที่เคยตีหรือขว้างปาไก่ตัวผู้ถึงกับชักหรือตายมาแล้ว วางขวางไว้หน้ารังไก่ ให้แม่ไก่ข้ามขึ้น
ลงขณะไปวางไข่ เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม
หัวงูเห่า หัวเสือปลา หัวพังพอน หัวเหยี่ยวนกเขาหรือเหยี่ยวหัวขาว เลือกเอาเพียงอย่างเดียว
นำไปแขวนไว้ที่ใต้รังไก่
ทองคำ เชื่อว่าจะทำให้ลูกไก่ชนที่เกิดมามีขนสร้อยสีสวยงามเหมือนทองคำ
ใบเงิน ใบทอง ใช้ใบเงิน ใบทองอย่างละ 5 ใบ รองรังไก่ เพื่อเป็นเคล็ดให้ได้เงินทองมากๆ
ใบขนุน ใช้ใบขนุนแห้ง 5 ใบ รองรังไก่ เพื่อเป็นเคล็ดให้เกื้อหนุน ให้ได้เงินทองมากๆ
การคัดเลือกไข่
เมื่อแม่ไก่ได้รับการผสมพันธุ์และวางไข่ไว้ภายในรังที่เตรียมเอาไว้แล้ว จะต้องคัดไข่ที่มีเปลือกบาง ผิวขรุขระ ไข่แฝด ฟองเล็กเกินไป และฟองที่มีรอยแตกร้าวออกไป เพราะไข่เหล่านี้ถือว่าเป็นไข่ที่ผิดปกติ อัตราการฟักออกเป็นตัวต่ำ ถึงจะฟักออกเป็นตัวก็เป็นลูกไก่ที่ไม่สมบูรณ์ ไข่ที่คัดออกนี้สามารถนำไปประกอบอาหารได้ ถ้าไข่มีจำนวนมากเกินไป แม่ไก่จะกกไม่ทั่วถึง ไข่จะล้นอกแม่ไก่ทำให้ไข่เน่าเสีย ลูกไก่ที่เกิดมาจะไม่แข็งแรง และถ้าลูกไก่มีจำนวนมากเกินไปจะเกิดการแย่งอาหารกัน จึงคัดไข่ส่วนหนึ่งออก เหลือไว้เพียง 5 - 10 ฟอง
การฟักไข่
การให้แม่ไก่กกไข่เองนั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ เช่น เป็นการประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา และที่สำคัญคือลูกไก่จะได้รับความอบอุ่นและเรียนรู้สัญชาตญาณจากแม่ไก่ ดังนั้นไก่ชนจึงไม่สมควรที่จะใช้ตู้ฟักไข่ เมื่อแม่ไก่วางไข่จนฟองสุดท้ายแล้วก็จะเริ่มกกไข่เอง ใช้เวลาประมาณ 18 – 21 วัน ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัว ซึ่งวิธีการฟักไข่ที่ได้รับความนิยมมี 2 วิธี
วิธีธรรมชาติโดยใช้แม่ไก่กกเอง เป็นวิธีที่ประหยัดและนิยมทำกันมากที่สุด ระยะเริ่มแรกของการฟักไข่ แม่ไก่จะใช้เวลาเกือบทั้งวันในการกกไข่และคอยกลับไข่ ในช่วงนี้ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้แม่ไก่ถูกรบกวน ต้องคอยดูแลเติมน้ำและให้อาหารแก่แม่ไก่อย่างพอเพียง เพราะถ้าแม่ไก่เกิดความเครียดหรือหิวอาจจะจิกกินไข่ของตนเองได้ เมื่อแม่ไก่กกไข่ได้ประมาณ 10 วัน ให้ใช้ไฟฉายส่องไข่ดูว่ามีตัวอ่อนหรือไม่ จากนั้นคัดไข่ที่ไม่มีตัวอ่อนหรือผสมไม่ติดออกไป แล้วให้แม่ไก่กกไข่ต่อไปอีก ประมาณ 8 - 11 วัน ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัว จากนั้นจะปล่อยให้แม่ไก่เลี้ยงลูกเองหรือจะแยกเลี้ยงก็ได้
วิธีจัดการให้แม่ไก่ตัวอื่นฟักแทน เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาแม่ไก่จิกกินไข่ของตนเองหรือจิกกินลูกไก่ที่ฟักออกมา ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากความเครียดจากการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ดีหรืออาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวของแม่ไก่ก็ได้ ปัญหานี้แก้ไขได้โดยเก็บไข่ไปฝากให้แม่ไก่ตัวอื่นกกแทน วิธีนี้เรียกว่า ”ใช้มือปืน” ซึ่งก็หมายความว่าให้แม่ไก่ตัวอื่นกกไข่แทนนั่นเอง
Monday, May 27, 2013
การเพาะและพัฒนาสายพันธ์ไก่ชน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment