Monday, May 27, 2013

ไก่ชนเมืองพิษณุโลก

     ไก่ชนเมืองพิษณุโลก    
   
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgQ3rWK2-wf7G8XLWxYH8mx9_0yOhGhHTc3QMHCa_P9VEkYeQDcAYxL0mgXPRgQ27chjLfQQq2K3lurXi3dDhrRE4siw5cTx4EFNVNxcNGolr48rbFr_tmK3um747wEH-qTSuQ3vHnDnLo/s1600/14739_full.jpg
    โดยทั่วไป "การเลี้ยงไก่ชน" และ "การชนไก่" เป็นของคู่กัน ของชนบท ไทยทั่วไป ดังคำพังเพยที่ว่า "เสร็จจากการทำนา ก็กัดปลาชนไก่" และการทำนากับการชนไก่ ก็เป็นของคู่กันอีก ในสมัยก่อน การนวดข้าวต้องใช้แรงจากคนตีข่าวให้ร่วง ต้องมีลานตากข้าว และต้องไปนอนเฝ้า การเลี้ยงไก่ควบคู่กันไป เพราะว่ามีข้าวเปลือกมาก เป็นอาหารไก่ ไก่ก็อุดมสมบูรณ์ในฤดูหนาวที่เก็บเกี่ยวข้าวกัน จะตรงกับฤดูผสมพันธุ์ไก่ เลี้ยงลูกไก่ หรือแม้แต่การเลี้ยงไก่ชนกัน ซึ่งจุดนี้ทำให้การชนไก่สืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
    การเลี้ยงไก่ชนเมืองพิษณุโลก พอจะแยกกล่าวได้ 4 ระยะ คือ
    1. ยุคประวัติศาสตร์ (2523 - 2533)
    2. ยุคไก่ชนพระนเรศวรรุ่งเรือง (2534 - 2544)
    3. ยุครวมพลังสร้างชื่อไก่ชนพระนเรศวร (2545 - 2555)
    4. ยุควิทยาศาสตร์ไก่ชนพระนเรศวร (2556 ++)
    1. ยุคประวัติศาสตร์
    เมืองพิษณุโลก ก็เหมือนเมืองอื่นๆ โดยทั่วไปที่ชนบทมีการเลี้ยงไก่ไทย "ไก่ไทย" คำๆ นี้ต้องวิเคราะห์กันให้ดีเหมือน "คนไทย" คือ คนไทยเกิดมาแล้ว โตขึ้นต้องใช้อาวุธมวยไทยเป็นทุกคนแต่กำเนิด โดยไม่ต้องสอน คือ เตะ ถีบเป็น ใส่ศอกเป็น ไก่ไทยก็เช่นกัน เมื่อมีการเลี้ยงไก่ตามชนบท ถ้าเจ้าของเป็นนักเลงชนไก่ ก็จะเอาไก่ตัวผู้มาซ้อมคัดเลือกตัวเก่งไว้ชน ถ้าเจ้าของไม่ใช่นักเลงชนไก่ก็จะเลี้ยงไก่ไว้ต้มแกงเป็นอาหาร และขาย ดังนั้น ไก่ไทยจึงมีวิญญาณในการชนเป็นด้วย เชื่อกันว่า ไก่ชนไทยได้เลี้ยงกันมาไม่ต่ำกว่า 700 ปี ไก่ไทยจึงเป็นภูมิปัญญาไทย เลี้ยงและคัดเลือกสายพันธุ์มาโดยตลอด เพื่อสรรหาไก่เก่งไว้ชนกัน จนกระทั่งได้พันธุ์เก่งที่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมากว่า 400 ปีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้นำไปชนถึงขนาดท้าชนเอาบ้านเอาเมืองเป็นเดิมพัน คือไก่ชนเหลืองหางขาวที่ชนชนะไก่ชนของพระมหาอุปราชาที่ประเทศพม่ามาแล้ว ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องไก่ชนพระนเรศวรจากประวัติศาสตร์มาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เริ่มรับราชการที่จังหวัดพิษณุโลกครั้งแรกปี 2514 สรุปรวมความว่า "ไก่เหลืองหางขาวกินเหล้าเชื่อ" "ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง" เป็นไก่ที่สืบสายเลือดมาจากไก่ที่สมเด็จพระนเรศวรนำไปชนชนะไก่พม่าในวันนั้นและไก่ชนสมัยนั้น ได้สืบสายเลือดเหลืองหางขาวมาจนกระทั่งทุกวันนี้
    ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 เป็นวันครบรอบ 400 ปี การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลกได้จัดให้มีการประกวดไก่ชนพระนเศวรขึ้น มีไก่ส่งเข้าประกวดถึง 633 ตัว เราได้ไก่ที่ชนะเลิศ 5 ตัว ที่ 1, 2, 3 และชมเชย 2 ตัว และเราได้ประกวดสุ่มไก่ด้วย มีผู้ที่ส่งเข้ามา 574 ใบ การเลี้ยงไก่ชนกับสุ่มไก่เป็นของคู่กัน เมื่อเลี้ยงไก่ต้องใช้สุ่มครอบ เมื่อไก่ชนรุ่งเรือง กิจกรรมสานสุ่มก็รุ่งเรืองด้วย จากนั้นเป็นต้นมาคนทั่วประเทศเริ่มรู้จักไก่ชนพระนเรศวรมากขึ้นตามลำดับ
    1.1 การส่งเสริมภาครัฐ
    ในยุคนี้ ภาครัฐมองข้ามไก่ไทย มองเห็นแต่ไก่ลูกผสม คือ นำไก่ไทยผสมกับไก่เนื้อและไก่ไข่ เพื่อหวังผลการแข็งแรงจากสายเลือดไก่ไทย ได้เนื้อมากจากไก่เนื้อ และไข่ดกจากไก่ไข่ จึงมีการส่งเสริมมุ่งทางนี้ ดังนั้น การอนุรักษ์ไก่ไทยก็เป็นไปตามมีตามเกิด ขึ้นอยู่กับคนชนบทที่สืบสานการเลี้ยงอนุรักษ์พันธุ์เรื่อยมา เนื่องจากไก่สามสายเลือดมีความต้านทานโรคน้อยและตลาดไม่ต้องการ จึงทำให้มีการกระจายพันธุ์ลูกผสมน้อยลง แต่ความต้องการไก่ไทยนั้น ตลาดกลับต้องการมากขึ้น จะเห็นได้จากราคาที่ซื้อ ไก่ไทยจะมีราคาสูงกว่าไก่ลูกผสม การประกวดในงานนเรศวรมหาราชและงานกาชาดของจังหวัด ปี 2527 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดประกวดไก่ไทยขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดพิษณุโลกหรือครั้งแรกของประเทศไทยก็ได้ โดยจัดประกวดไก่ชน ไก่ตะเภา ไก่ขนหยอง และไก่พื้นเมืองอีกมากมาย

    1.2 บ่อนไก่
    เมื่อก่อนมีบ่อนไก่ในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 8 บ่อน จะเห็นได้ว่า เมื่อบ่อนไก่มาก การเลี้ยงไก่ก็มากด้วย ระยะหลังบ่อนไก่เหลือ 2 แห่งเท่านั้น แสดงว่าการเลี้ยงไก่ซบเซาลงมาก เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น คือ พลเอกสิทธิ จิระโรจน์ ได้ออกกฏกระทรวงห้ามตั้งบ่อนไก่ขึ้นมาใหม่ ดังนั้นบ่อนไก่ที่มีมานาน ต่อมาก็หมดอายุ เมื่อเจ้าของบ่อนเสียชีวิต เพราะไม่สามารถต่อทะเบียนได้ ทำให้บ่อนลดลงเรื่อยๆ ผู้เลี้ยงไก่ชนจึงนิยมชนบ่อน

0 comments:

Post a Comment